โรคมะเร็งเต้านม การตรวจวินิจฉัย การรักษา


มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลเหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียงเช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ

มะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายมีโอกาสพบได้น้อยมากเพียง1 % ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด จากการเก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆในประเทศไทยพบว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดเป็นอันดับ 1

มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ 

ระยะ 0 เป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ซึ่งยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านม

ระยะ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง

ระยะ 2  ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้หรือไม่ก็ได้ หรือมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น

ระยะ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และรุกรามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น

ระยะ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆแล้ว

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม

  • ผู้หญิงที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นญาติใกล้ชิด เช่น แม่พี่สาวหรือน้องสาว เป็นต้น
  • ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี
  • ผู้หญิงที่รอบเดือนมาเร็ว และหมดช้า หรือใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่อายุ 40  ปีขึ้นไป

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม จะใช้การตรวจประเมินร่วมกัน คือ

เมื่อพบอาการผิดปกติที่สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ การพบความผิดปกติของภาพการตรวจเอ็กซเรย์เต้านม คลำพบก้อนที่เต้านม หรือเกิดความผิดปกติที่เต้านม ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจมีการซักประวัติ อาการที่เป็น ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมและการตรวจร่างการทั่วไป รวมทั้งการตรวจเต้านม ดังนี้

  • การคลำ แพทย์จะตรวจลักษณะของก้อนและเต้านมโดยทั่วไป รวมทั้งบริเวณรักแร้ และเหนือกระดูกไหปลาร้า
  • การตรวจแมมโมแกรม การตรวจเอ็กซะเรย์เต้านม ทำให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมโดยเฉพาะลัษณะของก้อนเหมือนก้อนมะเร็งหรือไม่ ขนาดและขอบเขตของก้อน จำนวนก้อนที่มี
  • การตรวจคลื่นสะท้อนแรงสูง (ultrasonography) ช่วยแยกโรคได้ว่าก้อนที่เป็น เป็นก้อนเนื้อทั้งหมด หรือเป็นถุงน้ำ และใช้ดูประกอบกับการตรวจแมมโมแกรม (mammogram)

จากข้อมูลเบื้องต้น แพทย์จะตัดสินใจว่าต้องมีการตรวจเพิ่มเติมหรือการรักษาจำเป็นหรือไม่ ในรายที่ลักษณะการตรวจเข้าได้กับลักษณะของเนื้องอกไม่ร้ายแรง แพทย์อาจนัดผู้ป่วยมาตรวจสม่ำเสมอ เพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของรอยโรค ในรายที่สงสัยอาจต้องมีการเจาะหรือตัดก้อนเนื้อตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • การเจาะตรวจด้วยเข็มขนาดเล็ก

การใช้เข็มขนาดเล็กเจาะตรวจก้อนที่สงสัยว่าเป็นถุงน้ำ เพื่อดูดน้ำมาตรวจ หรือเจาะก้อนเนื้อเต้านมที่สงสัย และตรวจด้วยจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะของเซลล์ที่เจาะตรวจ

  • การตัดเนื้อตรวจด้วยเข็ม

โดยการใช้เข็มขนาดใหญ่ เจาะตัดก้อนเนื้อเต้านมที่สงสัย หรือ เจาะบริเวณที่ผิดปกติจากการตรวจเอ็กซเรย์แมมโมแกรม ส่งไปที่ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา เพื่อให้พยาธิแพทย์ตรวจ ลักษณะของเซลล์ว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่

  • การผ่าตัดตรวจชิ้นเนื้อ

แพทย์ตัดเนื้อบางส่วนหรือทั้งหมดของก้อนเนื้อเต้านมที่สงสัย พยาธิแพทย์จะตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง เมื่อการตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็งเต้านม ควรมีการตรวจย้อมพิเศษเพิ่มเติม เพื่อตรวจดูความรุนแรงของโรคมะเร็งที่เป็นและเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับรอยโรคที่ตรวจพบ โดยตรวจตัวรับฮอร์โมน (hormone receptor) ซึ่งมี 2 ชนิด คือ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen receptor) และตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone receptor) ถ้าให้ผลบวกแสดงว่าโรคตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด และตรวจย้อมยีนมะเร็งเฮอร์ทู (HER-2 onco gene) ซึ่งถ้าให้ผลบวก แสดงว่าโรคมะเร็งเต้านมเป็นชนิดร้ายแรง ดื้อยาเคมีบำบัดและโรคกลับเป็นซ้ำรวดเร็ว ตลอดจนผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเร็วกว่าผู้ที่ตรวจไม่พบยีนมะเร็งเฮอร์ทู นอกจากนี้ผลของยีนมะเร็งเฮอร์ทู สามารถทำนายการตอบสนองต่อการรักษาด้วยช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)

การรักษามะเร็งเต้านม จะอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ เช่น

  • ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง
  • อายุและสุขภาพของผู้ป่วย
  • ตัวรับฮอร์โมนของมะเร็ง
  • ภาวะก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน
  • ปัจจัยที่บ่งบอกความรุนแรงของเนื้องอก เช่น ยีน HER2

ทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านม

  • การผ่าตัด
  • รังสีรักษา
  • เคมีบำบัด
  • การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน
  • การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy)
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่ถือสิทธิ์ บัตรทองสามสิบบาท และ ประกันสังคม สามารถเข้าถึงการตรวจยืนยันการเพิ่มขึ้นของยีนส์ HER2 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านระบบ BioBridge ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยา และ วิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้ผู้ป่วยแต่ละคนได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 083-291-1188, 086-907-1552

ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์เฉพาะกิจ : กบ-กฤศพณ ดีประเสริฐ โทร. 082-549-2456


Similar Posts