CSR เหมือนหรือต่างกับ ESG


จากความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญของข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะข้อมูลดังกล่าว สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท

คำว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน

Financial Times ได้บัญญัติความหมายของ ESG ว่าเป็นคำที่ใช้ในตลาดทุนโดยผู้ลงทุนเพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

หากจะเปรียบเทียบระหว่าง CSR กับ ESG เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง สามารถอธิบายได้ว่า ESG เป็นคำที่กลุ่มผู้ลงทุนใช้ เวลาที่ต้องการเลือกกิจการที่จะเข้าไปลงทุนว่ามีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้หรือไม่ ESG จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างผู้ลงทุนกับบริษัท

ส่วน CSR เป็นคำที่กิจการใช้แสดงถึงการที่บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี) ผ่านทางกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ของบริษัท CSR จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะผู้ลงทุน

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง CSR กับ ESG อธิบายได้ว่า CSR ถือเป็นบทบาทของกิจการใน ‘ภาคการดำเนินงาน’ ที่ควรตอบโจทย์กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ ESG ถือเป็นบทบาทของกิจการใน ‘ภาคข้อมูล’ ที่ควรตอบโจทย์กลุ่มผู้ลงทุน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ CSR เป็นเรื่องของการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมที่คำนึงถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการ ขณะที่ ESG เป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลจากการการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ที่คำนึงถึงความคาดหวังของผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน

นั่นหมายความว่า กิจการที่สามารถดำเนินงาน CSR-in-process ได้ดี ก็ควรจะมีผลการดำเนินงานที่พร้อมต่อการเรียบเรียงเป็นข้อมูล ESG ให้แก่ผู้ลงทุนได้ทันที โดยมิต้องไปดำเนินการอะไรใหม่แต่อย่างใด

ฉะนั้น การที่องค์กรใด ออกมาประกาศว่าจะเปลี่ยนจากการมุ่ง CSR มาเป็น ESG แสดงว่า ยังขาดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพราะกิจการคงไม่ได้มีความมุ่งประสงค์ว่า จะเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มาเป็นการดูแลเฉพาะผู้ลงทุนกลุ่มเดียวแน่นอน

ในแง่ขององค์กรที่มีการขับเคลื่อน CSR-in-process หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการหลักทางธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว อาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอะไรใหม่ หรือทำเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ เพราะสิ่งที่ดำเนินการอยู่ เข้าเกณฑ์ ESG ที่ผู้ลงทุนใช้พิจารณาเข้าลงทุนในบริษัทอยู่แล้ว ส่วนจะได้รับเม็ดเงินลงทุนมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับที่ผู้ลงทุนจะ Benchmark การดำเนินงานของกิจการตามเกณฑ์ ESG เทียบกับองค์กรอื่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้าลงทุน

ในแง่ขององค์กรที่มีการขับเคลื่อน CSR-after-process ในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งแยกต่างหากจากกระบวนการหลักทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ อาจจะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาในส่วนของ CSR-in-process เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าเกณฑ์ ESG เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG มักจะให้ความสำคัญกับ CSR-in-process ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร และกับผลประกอบการขององค์กร มากกว่าเรื่องของการบริจาคหรือโครงการสาธารณกุศลต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ องค์กรควรที่จะพิจารณาพัฒนาและมุ่งเน้นการดำเนินงาน CSR-in-process ที่ผนวกเข้าสู่กระบวนงานทางธุรกิจและมีส่วนสัมพันธ์กับสถานะของกิจการ เพื่อที่จะสามารถนำผลการดำเนินงานเหล่านั้น มาเรียบเรียงเป็นข้อมูล ESG เปิดเผยแก่ผู้ลงทุน และสะท้อนอยู่ในบรรทัดสุดท้าย ในทางที่เสริมคุณค่าให้แก่กิจการ

www.thaipat.org


Similar Posts