พบไมโครพลาสติกในท้อง “ปลาทูไทย”


เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง โพสต์ภาพปลาทู ที่เก็บตัวอย่างมาจากท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู

ระบุข้อความว่า “ในการศึกษาไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทู บริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง โดยเก็บตัวอย่างจากท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู Rastrelliger brachysoma (Bleeker, 1851) 

พบว่าปลาทูขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 66.53 ± 1.136 กรัม (ค่าเฉลี่ย ± SE) ความยาวมาตรฐานเฉลี่ย 17.46 ± 0.087 (ค่าเฉลี่ย ± SE) เซนติเมตร มีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 ± 6.503 ชิ้น/ตัว ประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใย (สีดำน้ำเงิน แดง และเขียว) ชิ้น (สีดำ ขาว แดง น้ำตาล-ส้ม ฟ้า-น้ำเงิน และเหลือง) แท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96”

ในเรื่องนี้ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ข้อความว่า “เรื่องไมโครพลาสติกกำลังดัง เมื่อศูนย์วิจัยอุทยานพบไมโครพลาสติกในปลาเฉลี่ย 78 ชิ้น ต่อตัว 

พลาสติกในท้องปลาก็มาจากถุงพลาสติกใต้ทะเล ถุงกร่อนแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ลอยขึ้นไปอยู่ในน้ำ ตราบใดที่ถุงยังอยู่ เศษพลาสติกก็หลุดออกมาเรื่อยๆ”

คำถามที่ว่าเมื่อถุงแตกออกมาแล้วในน้ำมีเยอะไหม หลังจาก ผศ. ดร.ธรณ์ ได้นำเครื่องมือเก็บไมโครพลาสติกจากในทะเล จากนั้นก็นำมากรองใส่ขวด “จะเห็นเม็ดเล็กๆ ที่ก้นขวด นั่นคือไมโครพลาสติก (บางส่วน) เมื่อนำไปส่องดูในกล้อง จะเห็นไมโครพลาสติก หรือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร มีอยู่หลายแบบ

ปลาบางชนิดกินแพลงก์ตอนในน้ำ ก็กินไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย จากนั้นก็ไปอยู่ในท้อง บางส่วนสลายตัวกลายเป็นนาโนพลาสติก อาจเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อปลาได้ เรากินสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไป อาจเป็นสาเหตุเสี่ยงต่อหลายโรค ตามที่องค์การอนามัยโลกเคยเตือนไว้

การเก็บขยะทะเล จึงเป็นส่วนช่วยลดไมโครพลาสติกโดยตรง การงดใช้ถุงพลาสติกจะช่วยลดต้นตอไมโครพลาสติกไปได้อีกมาก”

สำหรับ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง บอกเพิ่มเติมว่า จะทำการเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลอื่นๆ มาตรวจวิจัยหาไมโครพลาสติกต่อไป

เครดิตภาพ : จากเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง


Similar Posts