CSR ควรเคลื่อนขบวนไปทางไหนดี
การประเมินสถานการณ์ซีเอสอาร์ของไทยให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดนั้น คงไม่สามารถหยิบเพียงส่วนของภาพที่ปรากฏ หรือเลือกเฉพาะส่วนที่เห็นหรือที่รู้สึกมานำเสนอ
เนื่องจากการวิเคราะห์แบบแยกส่วนนั้น แม้ข้อเท็จจริงในส่วนนั้นๆ จะถูกต้อง แต่สถานการณ์จริงอาจไม่เป็นไปตามผลการวิเคราะห์นั้นก็ได้
อย่างเช่น การเห็นข้อมูลตัวเลขการส่งออกยังเติบโตดีอยู่ ก็สรุปเอาว่าเศรษฐกิจโดยรวมก็น่าจะดีตามไปด้วย แต่ในสถานการณ์จริงเศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้ดีขึ้น เพราะเหตุจากปัจจัยหลักส่วนอื่นที่ส่งผล ไม่ใช่เรื่องการส่งออก เป็นต้น
ในแวดวงซีเอสอาร์ของไทย แม้องค์กรธุรกิจจำนวนหนึ่งจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องซีเอสอาร์ในระดับที่ดีพอ จนสามารถทำได้อย่างเห็นผลนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์จะต้องมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องซีเอสอาร์เป็นหลัก เพราะในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีองค์กรธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งที่พัฒนาจนสามารถปฏิบัติเรื่องซีเอสอาร์ได้อย่างล้ำหน้าเลยขั้นของการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจไปแล้ว
กรณีที่ถูกมองว่าซีเอสอาร์เป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะในวงของบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทที่เป็นเอสเอ็มอีไม่ค่อยรู้เรื่องหรือไม่สามารถทำได้ แม้จะรู้สึกได้ว่าเป็นเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ยังมีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่ทำเรื่องซีเอสอาร์มาอย่างยาวนาน เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำว่าซีเอสอาร์ หรือไม่ได้สื่อสารกับคนภายนอกให้เป็นที่รับรู้
ฉะนั้น การที่สังคมภายนอกไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่า องค์กรเหล่านี้ไม่ได้ทำเรื่องซีเอสอาร์
กรณีที่สังคมเข้าใจว่าองค์กรธุรกิจทำซีเอสอาร์ไปเพื่อกลบเกลื่อนความไม่ดี ที่ไปสร้างความเสียหายให้แก่สังคม จึงต้องใช้การสร้างภาพลักษณ์ด้วยการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อลดกระแสต่อต้านจากสังคม องค์กรธุรกิจจำพวกที่ว่านี้ก็มีอยู่จริง จนมีคำเรียกว่าเป็นซีเอสอาร์เทียม ด้วยเหตุที่กิจการเหล่านี้เอาแต่คำนึงถึงประโยชน์ของตัวแต่ฝ่ายเดียว ไม่ได้ห่วงใยในผลกระทบที่มีต่อสังคม ซึ่งเกิดจากกระบวนการทางธุรกิจนั้นๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่ายังมีองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อยังประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างจริงจัง โดยที่มิได้คาดหวังผลตอบแทนทางธุรกิจใดๆ กิจกรรมที่เกิดจากองค์กรธุรกิจในกลุ่มนี้เอง จึงได้ถูกเรียกขานว่าเป็นซีเอสอาร์แท้
การประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนในการขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์นั้น จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน มิฉะนั้นแล้ว อาจจะทำให้เกิดช่องว่างหรือเกิดความล่าช้าในการพัฒนา ทั้งนี้ หนทางการขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์นั้น ควรต้องมองเป็น “ขบวน” ซึ่งมีระดับขั้นของพัฒนาการที่แตกต่างกัน
เริ่มจากหัวขบวนที่เป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจผู้นำการพัฒนาและดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ได้อย่างก้าวหน้า และกำลังแสวงหานวัตกรรมในการทำซีเอสอาร์ที่สูงขึ้นไปหรือที่แตกต่างออกไปจากผู้ที่กำลังตามมา ในกลุ่มที่เป็นหัวขบวนนี้ จะต้องส่งเสริมให้มีเครื่องมือการออกแบบ มีวิธีการวัด วิธีการกำกับติดตาม หรือวิธีการรายงานผลที่สามารถตอบสนองการคิดค้นและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ทั้งในและนอกกระบวนการธุรกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมยิ่งๆ ขึ้นไป
ในส่วนของท้ายขบวน จะเป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจที่สนใจและกำลังศึกษาทำความรู้ความเข้าใจเรื่องซีเอสอาร์ เพื่อจะนำไปปฏิบัติในองค์กร ซึ่งก็มีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กปะปนกัน ในกลุ่มนี้ จะต้องให้หลักการ แนวทาง หรือคู่มือในการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์อย่างถูกต้องและอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อจะได้สามารถริเริ่มพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์แท้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดเป็นภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ ไม่หลงไปกับการพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์เทียมเพียงเพื่อหวังภาพลักษณ์ทางธุรกิจ
ขณะที่ในท่อนกลางของขบวน จะเป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ มีการลองผิดลองถูก ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง โดยยังขาดทิศทางที่แน่ชัดว่า กิจกรรมซีเอสอาร์หลักๆ ที่องค์กรควรทำคืออะไร และที่ไม่ควรทำคืออะไร องค์กรธุรกิจในกลุ่มนี้ จะต้องสร้างศักยภาพให้เขาสามารถวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน สามารถจัดทำแผนที่กลยุทธ์ด้านซีเอสอาร์ เสมือนเป็นแผนที่นำทางขององค์กรในการทำประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
เมื่อพิจารณาการพัฒนาซีเอสอาร์ในลักษณะที่เป็นขบวนเช่นนี้ ก็จะทำให้สามารถกำหนดรูปธรรมของการขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละส่วนของขบวนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้ทั้งขบวน โดยไม่ตกหล่นในส่วนใดส่วนหนึ่งไป
เนื่องจากพัฒนาการของซีเอสอาร์ในปัจจุบันมีพลวัตสูง ทำให้การขับเคลื่อนจึงต้องมีความยืดหยุ่นและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ครั้งหนึ่ง ความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกิดขึ้นตามหน้าที่หรือตามที่กฎหมายกำหนด มิได้อยู่นอกเหนือจากที่มีอยู่ในข้อกำหนด ระเบียบ หรือมาตรฐาน และมิใช่การกระทำที่เกิดจากความสมัครใจ ไม่ถือกันว่าเป็นซีเอสอาร์ แต่ในปัจจุบันกลับนิยามว่าเป็นซีเอสอาร์แบบหนึ่ง
สำหรับสถานการณ์ซีเอสอาร์ของไทยในปี 2551 นี้ กระแสเรื่องซีเอสอาร์ที่เกิดขึ้น ยังจะส่งผลให้บริษัทต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก กระโดดเข้าร่วมขบวนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ไม่น้อยไปกว่าปี 2550 ขณะที่กลุ่มองค์กรธุรกิจที่ได้เริ่มกิจกรรมซีเอสอาร์อย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นทิศทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น มีกลยุทธ์มากขึ้น รวมทั้งจะได้เห็นซีเอสอาร์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้นวัตกรรมเข้ามาผสมผสานกับกิจกรรมซีเอสอาร์ได้อย่างน่าสนใจ โดยยังคงไว้ซึ่งคุณค่าในการดำเนินงาน ภายใต้งบประมาณที่ปรับตามสภาวะเศรษฐกิจในปี 2551 นี้