| |

เด็กหลอดแก้ว ทางเลือกสำหรับผู้มีบุตรยาก


“เด็กหลอดแก้ว” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร ซึ่งที่ผ่านมาเด็กหลอดแก้วได้แก้ไขปัญหาการมีบุตรยากได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ทำให้พ่อแม่หลายคู่หันมาพึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อตอบโจทย์การมีบุตรได้ เด็กหลอดแก้วจึงกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก ในการแก้ปัญหาผู้มีบุตรยาก ที่สามารถทำได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ครั้งนี้ทางบทความก็ได้รวบรวมเอาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กหลอดแก้วมาฝาก สำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาข้อมูลเบื้องต้น

เด็กหลอดแก้ว คืออะไร?

เด็กหลอดแก้ว คือการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย มีชื่อภาษาอังกฤษว่า In-vitro Fertilization หรือเรียกสั้นๆ ว่า IVF เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ทำให้การปฏิสนธิอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อให้เกิดตัวอ่อน จึงเพิ่มโอกาสการมีบุตรให้สูงขึ้น และสามารถแก้ปัญหาการมีบุตรยากได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเชื้ออสุจิจำนวนน้อย เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์จะทำการคัดสรรเชื้ออสุจิที่แข็งแรงมาปฏิสนธิกับไข่ในห้องทดลอง ทำให้ได้ตัวอ่อนง่ายกว่าการปฏิสนธิแบบธรรมชาติ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ของการมีบุตรยากบางอย่างก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว

ทำไมต้องทำเด็กหลอดแก้ว?

การทำเด็กหลอดแก้ว มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สะสม 40 – 50% ต่อรอบการรักษา ช่วยเพิ่มโอกาสกับผู้ที่มีบุตรยากได้ อีกทั้งยังสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งสาเหตุที่เกิดจากฝ่ายหญิงและสาเหตุที่เกิดจากฝ่ายชาย การทำเด็กหลอดแก้วยังช่วยแก้ปัญหาการแท้งบุตรได้ เนื่องจากมีการคัดกรองอสุจิที่สมบูรณ์ในการปฏิสนธิ นอกจากนี้ยังทำให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสสูงที่จะสมบูรณ์และไม่มีโรคผิดปกติทางพันธุกรรมด้วย

ที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว ก็คือการช่วยในเรื่องกำหนดช่วงเวลาวางแผนตั้งครรภ์ เพราะตัวอ่อนที่เพาะในห้องทดลองนั้น สามารถเก็บรักษาได้นานหลายสิบปีโดยการแช่แข็ง และสามารถนำออกมาใช้งานได้เมื่อต้องการมีบุตรในช่วงเวลาที่ต้องการ

ในด้านความปลอดภัยยังพบว่าการทำเด็กหลอดแก้วนั้น เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง โดยมีการเริ่มใช้มาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี 

เด็กหลอดแก้ว เหมาะกับใคร?

เด็กหลอดแก้วเหมาะกับผู้ที่มีปัญหา ดังนี้

  • ฝ่ายหญิงที่มีปัญหาในมดลูก เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลาย หรืออาจมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน รวมถึงผู้ที่มีภาวะไม่ตกไข่หรือไข่ตกช้า 
  • ฝ่ายชาย มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ อาทิ มีจำนวนน้อย มีรูปร่างผิดปกติ หรืออสุจิเคลื่อนที่ได้ช้า เป็นต้น

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว

  1. เริ่มต้นแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ทำการคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์จากรังไข่ และใช้เข็มดูดไข่ผ่านช่องคลอด เก็บไว้ในหลอด 
  2. แพทย์ทำการคัดเลือกอสุจิที่สมบูรณ์และแข็งแรงไว้ เพื่อปฏิสนธิกับไข่ในห้องปฏิบัติการ
  3. ไข่และอสุจิจะทำการปฏิสนธิกันภายใต้การควบคุมของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะติดตามผลหลังปฏิสนธิใน 2 วันถัดมา
  4. รอให้ไข่ได้รับการปฏิสนธิจะกลายเป็นตัวอ่อน และพร้อมย้ายเข้าไปในโพรงมดลูกภายใน 3-5 วันหลังเก็บไข่ 
  5. แพทย์ทำการย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกเมื่อพร้อม เพื่อตั้งครรภ์

เตรียมตัวก่อนทำเด็กหลอดแก้ว 

ฝ่ายหญิง

  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • งดอาหารที่มีน้ำตาลสูงและอาหารแปรรูป
  • งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตร/วัน
  • รับประทานโปรตีนมากๆ เพื่อให้ไข่สมบูรณ์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด
  • ควบคุมน้ำหนักโดยการออกกำลังกายเบาๆ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบหักโหม

ฝ่ายชาย

  • งดสูบบุหรี่ 3 เดือนก่อนเริ่มการรักษา และระหว่างการรักษา
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ไม่สวมใส่กางเกงชั้นในที่รัดแน่นเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำอุ่นและการทำซาวน่า
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เพื่อรักษาระดับจำนวนของเชื้ออสุจิและคุณภาพของเชื้อให้สมบูรณ์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การปฏิบัติหลังนำตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก (ฝ่ายหญิง)

  • นอนพักประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงหลังทำ
  • พักผ่อนที่บ้านอีก 12 – 24 ชั่วโมง
  • ควรงดการมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่มีการเกร็งหน้าท้อง
  • ห้ามรับประทานยา นอกเหนือจากที่แพทย์กำหนด
  • พบแพทย์หลังทำ 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจการตั้งครรภ์
  • หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด

โอกาสตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้ว

  1. ความแข็งแรงของตัวอ่อน มีผลต่อโอกาสตั้งครรภ์ หากแข็งแรงมากก็เพิ่มโอกาสให้เกิดการตั้งครรภ์ได้สูงขึ้น 
  2. อายุของฝ่ายหญิงมีผลต่อการรอดชีวิตของตัวอ่อน ยิ่งอายุมากโอกาสรอดชีวิตของตัวอ่อนก็จะยิ่งน้อยลง 
  3. การตอบสนองการกระตุ้นการตกไข่มีผลต่อโอกาสตั้งครรภ์ ซึ่งในแต่ละคนก็จะมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน
  4. อัตราความสำเร็จอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ต่อการทำ 1 รอบ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเด็กหลอดแก้ว

  • การตั้งครรภ์แฝด
  • การติดเชื้อ
  • ภาวะแท้ง
  • รังไข่ตอบสนองฮอร์โมนมากผิดปกติ ทำให้มีอาการปวดในท้อง 

หมายเหตุ ภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้น้อยลงในปัจจุบัน เนื่องจากแทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และแพทย์มีการวางแผนการรักษาที่ดีขึ้น

การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้มีบุตรยาก ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้คู่สมรสสามารถมีบุตรได้สำเร็จ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลต่อโอกาสการตั้งครรภ์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความพร้อมทางด้านร่างกายหรืออื่นๆ โดยเด็กหลอดแก้วเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง เพราะมีอัตราความสำเร็จที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังปลอดภัย


Similar Posts