เอ็นไหล่ฉีก: สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาอย่างครบถ้วน


เอ็นไหล่ หรือที่เรียกว่า “โรตเตอร์คัฟ” (Rotator Cuff) ทำหน้าที่สำคัญในการเชื่อมต่อกระดูกไหปลาร้า กระดูกต้นแขน และกล้ามเนื้อรอบ ๆ ไหล่ ช่วยให้เราสามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้อย่างอิสระ

ทั้งนี้ การใช้งานไหล่ซ้ำ ๆ หรือการบาดเจ็บเฉียบพลัน ล้วนส่งผลต่อเอ็นไหล่ฉีกขาดได้ บทความนี้จึงอยากพามาเจาะลึกถึงสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาเอ็นไหล่ฉีกอย่างครบถ้วน เพื่อให้คุณเข้าใจและรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างถูกต้อง

สาเหตุที่ทำให้เอ็นไหล่ฉีก

  • การใช้งานไหล่อย่างซ้ำๆ เป็นประจำ : พบได้บ่อยในนักกีฬาประเภทที่ต้องใช้แขนและไหล่ในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เช่น นักเทนนิส นักเบสบอล นักว่ายน้ำ นักวอลเล่ย์บอล หรือแม้แต่คนทำงานที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ การออกแรงบริเวณไหล่มากเกินไปทำให้เอ็นไหล่ได้รับแรงกระทบกระแทกจนเสียหายและฉีกขาดได้ในที่สุด
  • การบาดเจ็บเฉียบพลัน : เกิดจากอุบัติเหตุหรือแรงกระแทกกระเทือนที่มากระทบต่อบริเวณไหล่โดยตรง เช่น การหกล้ม การถูกของหนักทับ หรือการกระแทกอย่างแรงในระหว่างการเล่นกีฬา แรงกระแทกเหล่านี้อาจทำให้เอ็นไหล่ฉีกขาดได้ทันที
  • อายุที่มากขึ้น : เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อเอ็นต่าง ๆ ในร่างกายจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพและสูญเสียความยืดหยุ่นไปตามกาลเวลา ประกอบกับการใช้งานที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้โอกาสที่เอ็นไหล่จะฉีกขาดเพิ่มสูงขึ้น
  • โรคประจำตัว : โรคบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อสภาพของเนื้อเยื่อ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน หรือโรคไทรอยด์ เป็นต้น ทำให้เอ็นและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอ่อนแอและฉีกขาดได้ง่ายขึ้น

อาการของเอ็นไหล่ฉีก

  • ปวดบริเวณไหล่ : จะรู้สึกปวดบริเวณด้านหน้าของไหล่ ต้นแขน หรือบริเวณสะบัก โดยอาการปวดมักจะรุนแรงขึ้นเมื่อยกแขนหรือเคลื่อนไหวบริเวณไหล่
  • การอักเสบ : อาจพบอาการบวม ร้อน แดงบริเวณไหล่
  • การสูญเสียการเคลื่อนไหว : เนื่องจากความเจ็บปวด จึงทำให้ยากต่อการยกแขน เคลื่อนไหวไหล่ ส่งผลให้ไหล่ขัด
  • เสียงดังในไหล่ : อาจได้ยินเสียงคล้ายกระดูกกระทบกัน หรือเสียงกร๊อกกรากในบริเวณไหล่ เมื่อเคลื่อนไหว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง : กล้ามเนื้อรอบ ๆ บริเวณไหล่อ่อนแรงลง เนื่องจากเอ็นฉีกขาดจึงไม่สามารถออกแรงได้เต็มที่

การรักษาเอ็นไหล่ฉีก

วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บ ดังนี้

  • เอ็นไหล่ฉีกเล็กน้อย : ในกรณีที่ฉีกขาดเพียงเล็กน้อย อาจสามารถรักษาด้วยวิธีพักการใช้งาน ประคบความเย็นเพื่อลดการอักเสบ รับประทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการ และการกายภาพบำบัดเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูสภาพ
  • เอ็นไหล่ฉีกปานกลาง : หากพบว่าเอ็นไหล่ฉีกขาดในระดับปานกลาง แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบและให้การกายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย
  •  เอ็นไหล่ฉีกขาดมาก : ในกรณีที่เอ็นไหล่ฉีกขาดในระดับรุนแรง อาจจำเป็นต้องผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเอ็นไหล่นั้นเสีย

การป้องกันเอ็นไหล่ฉีก

เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเอ็นไหล่ฉีก สามารถปฏิบัติดังนี้

  • อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย และยืดกล้ามเนื้อหลังเสร็จสิ้นการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลดอาการบาดเจ็บ
  • หลีกเลี่ยงการใช้งานไหล่ซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน ควรหมุนเวียนการออกแรงไปยังส่วนอื่น ๆ บ้าง
  • พักการออกแรงหรือการใช้งานเมื่อรู้สึกถึงอาการ

หากประสบปัญหาเอ็นไหล่ฉีก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติทันที  เพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาและป้องกันการบาดเจ็บที่อาจกระทบจนเกิดปัญหารุนแรงอื่น ๆ ต่อไป


Similar Posts