โรคไซนัสคืออะไร การอักเสบจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อาการ วิธีป้องกันและการรักษา
โรคไซนัสอักเสบ หมายถึง การอักเสบและการติดเชื้อของเยื่อบุจมูกและไซนัส ซึ่งแบ่งประเภทโดยอาศัยระยะเวลาของการมีอาการ ดังนี้
- โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือโรคไซนัสอักเสบที่ผู้ป่วยมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์ โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้
1.1) เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการไม่เกิน 10 วัน และมักจะหายได้เอง
1.2) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการของหวัดหรือการติดเชื้อในระบบ ทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่า 10 วันหรือมีอาการดีขึ้นแล้วกลับแย่ลง
- โรคไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน คือ โรคไซนัสอักเสบที่ผู้ป่วยมีอาการตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์
- โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือโรคไซนัสอักเสบที่ผู้ป่วยมีอาการตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะๆได้
อาการและอาการแสดงของไซนัสอักเสบ
บทความโดย Luxury Society Asia
อาการหลักมี 3 อาการ ได้แก่ อาการคัดหรือแน่นจมูก มีน้ำมูกไหลออกมาทางรูจมูกด้านหน้า หรือไหลลงคอ รวมถึงมีอาการปวด หรือแน่นบริเวณใบหน้า อาจมีการรับกลิ่นเสียไป เมื่อตรวจดูภายในโพรงจมูก มีการอุดตัน เนื้อเยื่อบวมหรืออาจพบมีริดสีดวงจมูก หรือหนองไหล
การส่งตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
- ภาพเอกซเรย์ไซนัส อาจพบความผิดปกติ เช่นการทึบแสงของโพรงไซนัสโดยเปรียบเทียบบริเวณ maxillary sinus กับบริเวณเบ้าตา มีทั้งทึบแสงทั้งหมด ทึบแสงบางส่วนเห็นเป็นระดับ air-fluid level หรือพบมีการหนาตัวของเยื่อบุโพรงไซนัส ซึ่งภาพรังสีในสองแบบแรกมีความสัมพันธ์กับการวินิจฉัย มากกว่า ภาพรังสีที่พบการหนาตัวของเยื่อบุโพรงไซนัสที่อาจพบได้ในคนปกติและผู้ป่วยโรคภูมิแพ้
- เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กของไซนัส จะพบมีความผิดปกติของเยื่อบุจมูก และ/หรือมีความผิดปกติของไซนัสบริเวณ osteomeatal complex ซึ่งเป็นรูเปิดของไซนัส ซึ่งสามารถพบได้ ในคนปกติที่ไม่มีอาการได้ถึง 33% ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทำการตรวจค้นดังกล่าวในการวินิจฉัยไซนัสอักเสบ ทั่วไป แต่จะแนะนำให้ทำในกรณีที่ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่มีภาวะแทรกซ้อนทางตา สมอง หรือในผู้ป่วยที่สงสัยเนื้องอกของจมูกและ/หรือไซนัส หรือมีสาเหตุอื่นที่ทำให้มีอาการปวดบริเวณใบหน้า หรือผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่ให้ยาไปแล้วไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยที่วินิจฉัยว่ามีไซนัสอักเสบร่วมกับมีประวัติได้รับ อุบัติเหตุ หรือได้รับการผ่าตัดบริเวณใบหน้ามาก่อน หรือในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อน จากไซนัสอักเสบ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้นบทความโดย Luxury Society Asia
การวินิจฉัย
โดยทั่วไปการวินิจฉัยอาศัยลักษณะทางคลินิกเป็นส่วนใหญ่ ได้จากการซักประวัติ และการตรวจโพรงจมูก สำหรับภาพรังสีเอกซเรย์นั้นมีส่วนช่วยเฉพาะในรายที่อาการและอาการแสดงไม่สัมพันธ์กันหรือในรายที่ยากต่อการวินิจฉัย การส่งเพาะเชื้อช่วยในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการให้ยาต้านจุลชีพหรือสงสัยเชื้อดื้อยา
การรักษา
- ในผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด, ให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
- ในผู้ป่วยไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่มาก เช่น ปวดเล็กน้อย ไข้ต่ำกว่า38.3°C แนะนำให้สังเกตอาการและจะให้ใช้ยาต้านจุลชีพเมื่ออาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น หรือเลวลงภายใน 7 วัน อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงอายุ สุขภาพโดยทั่วไปและโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย
- ยาต้านจุลชีพชนิดแรกที่ควรให้ คือ amoxicillin และควรให้เป็นระยะเวลา 10-14 วัน (ถ้าแพ้ penicillin อาจพิจารณาให้ trimethoprim/ sulfamethoxazole หรือ macrolides) และถ้าให้ยาต้านจุลชีพ 7 วัน แล้วไม่ดีขึ้น เชื้อก่อโรคอาจไม่ใช่แบคทีเรีย หรือเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา ดังนั้นควรทำการเพาะเชื้อเพื่อ จะได้ใช้ยาที่เหมาะกับเชื้อก่อโรคนั้นๆ และเปลี่ยนยาต้านจุลชีพเป็นชนิดอื่นระหว่างรอผลเพาะเชื้อ หากผู้ป่วยเคยได้รับยาต้านจุลชีพมาก่อนภายใน 6 สัปดาห์ก่อน หรือในผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้าง รุนแรง อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนกลุ่มหรือขนาดยา ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกสามารถใช้ในการรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลันด้วย เพื่อบรรเทาอาการผู้ป่วย
- สำหรับไซนัสอักเสบเรื้อรัง เชื้อแบคทีเรียอาจยังไม่ใช่สาเหตุของการเกิด ซึ่งจากการศึกษาเพาะเชื้อที่แยกจากโพรงไซนัสของคนปกติและผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง พบการมีเชื้อแบคทีเรียไม่แตกต่างกันในคนทั้ง 2 กลุ่ม การให้ยาต้านจุลชีพรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ยังไม่มีการวิจัยสนับสนุน ดังนั้นจะเลือกให้ในรายที่พบมีการเกิด ไซนัสอักเสบเฉียบพลันขึ้นซ้ำ (acute exacerbation) และควรทำการเพาะเชื้อเพื่อเลือกชนิดยาต้านจุลชีพ ที่เหมาะสมก่อนเสมอ เพราะจากการศึกษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ พบมีการเปลี่ยนแปลงชนิดของเชื้อแบคทีเรียในแต่ละระยะเวลา ที่ทำการเพาะเชื้อจากผู้ป่วยคนเดียวกัน
คอร์ติโคสเตียรอยด์ ชนิดพ่นจมูกมีบทบาทในการลดขนาดริดสีดวงจมูก และลดอาการอื่นๆ ที่เกิดจากริดสีดวงจมูกด้วย เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม แต่มีผลน้อยเกี่ยวกับการรับกลิ่น
ภาวะแทรกซ้อน จากไซนัสอักเสบ
- ทางตา อาการที่ต้องสงสัย ได้แก่ ตาบวม เจ็บตา กลอกตาแล้วเจ็บ มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด เป็นต้น
- ทางสมอง อาการที่ต้องสงสัย ได้แก่ ปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่วมกับไข้สูง เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ : ไข้หวัด ภูมิแพ้ เยื่อบุโพรงจมูกบวม โรคกรดไหลย้อน ฯลฯ พฤติกรรมบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น การสัมผัสความเย็นเป็นเวลานาน โดนระคายเคืองด้วยอากาศแห้งและเย็น รวมถึงการเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลัน
การป้องกันการเกิดโรคไซนัสอักเสบ
ควรพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และตรงเวลา เลี่ยงอาหารรสจัด มัน เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนไม่ควรมากกว่า 2 แก้วต่อวัน ดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5 ลิตรต่อวัน
Cr. บทความ www.bumrungrad.com
บทความโดย Luxury Society Asia