โรคโลหิตจาง (anemia) สาเหตุ อาการและการรักษา
โลหิตจาง (anemia) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะจำนวนเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบิน (hemoglobin, Hb) ในร่างกายน้อยลง โดยมีค่าฮีโมโกลบินต่ำกว่าค่าของคนปกติ เกินกว่าสองเท่า ทำให้เกิดอาการตัวซีด ส่วนค่าฮีมาโทคริต (hematocrit, Hct) หรือปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ไม่สามารถบ่งบอกถึงภาวะโลหิตจางได้โดยตรง เนื่องจาก มีความผันแปรตามปริมาตรของน้ำเลือด และน้ำเหลืองด้วย
ชนิดของโรคโลหิตจาง
1. โลหิตจางจากการขาดสารอาหาร
โลหิตจางชนิดนี้เกิดจากการขาดสารอาหารที่จำเป็นในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น ขาดธาตุเหล็ก โฟเลท วิตามินบี12 รวมไปถึงความผิดปกติที่เกิดจากโรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) หรือโรคที่มีเซลล์มะเร็งในไขกระดูก
2. โลหิตจางจากการเสียเลือด
เป็นภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการเสียเลือดอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โดยชนิดเฉียบพลันจะทำให้ปริมาณธาตุเหล็กในเลือดลดลงอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะตัวซีด
3. โลหิตจางจากรอยโรค
เป็นโรคโลหิตจางที่เกิดจากโรคชนิดต่างๆที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกหรือถูกทำลายง่าย ส่งผลต่อปริมาณเม็ดเลือดแดงที่น้อยกว่าปกติ เช่น โรคต้านเม็ดเลือดแดง (Autoimmune Hemolytic Anemia) โรคเม็ดเลือดแดงขาดเอนไซม์ (G-6-pd Deficiency) และโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคโลหิตจางที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดการสร้างสารเบต้าโกลบินลดลง ส่งผลต่อปริมาณฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง และเกิดการแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงตามมา เป็นชนิดที่มีผลข้างเคียงต่อการทำงานของระบบหัวใจ ระบบต่อมไร้ท่อ และกระดูกตามมา
โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
เป็นภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กทำให้ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดงหรือมีค่าฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่าปกติ เนื่องมาจากร่างกายมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ที่จะนำไปสร้างเม็ดเลือดแดงได้
สาเหตุการขาดธาตุเหล็ก
สาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กที่พบมาเกิดจาก พฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยการรับประทานในหนึ่งมื้อนั้น อาจได้รับปริมาณธาตุเหล็กที่น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย หรือเกิดจากการได้รับสารอาหารที่เป็นตัวขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น กรดไฟติค ออกซาลิค และแทนนิน เป็นต้น ซึ่งมักพบในผักพื้นบ้าน เช่น ตำลึง กระเจี๊ยบ ใบชะพลู ชา เป็นต้น
1. การบริโภคอาหาร
การเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมักเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กต่ำ หรืออาหารที่รับประทานมีสารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในลำไส้ ทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอตามความต้องการของร่างกายที่เพิ่มขึ้น
2. ช่วงชีวิตเพศหญิง
การเสียเลือดจากการเป็นประจำเดือน การเสียเลือดจากการคลอดลูก ความต้องการธาตุเหล็กขณะตั้งครรภ์ และการเจริญเติบโตของเด็ก ส่งผลต่อปริมาณธาตุเหล็กที่ลดลง และทำให้เกิดการธาตุตามเหล็กตามมาทั้งตัวมารดา และบุตรเอง
3. รอยโรคต่างๆ
การเกิดโรคต่างๆที่มีสาเหตุทำให้ขาดธาตุเหล็กหรือปริมาณเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง แบ่งได้ ดังนี้
– โรคที่ทำให้สูญเสียเลือดเรื้อรัง ได้แก่ การเจ็บป่วยจากโรคพยาธิปากขอ พยาธิใบไม้เลือด และพยาธิแส้ม้า มีส่วนทำให้เสียเลือดเรื้อรัง รวมถึงการสูญเสียเลือดเรื้อรังจากโรคริดสีดวงทวารหนัก เลือดออกจากแผลในระบบทางเดินอาหาร และโรคมะเร็ง
– โรคที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก ได้แก่ ภาวะท้องร่วงอย่างรุนแรงยังเป็นส่วนหนึ่งที่ยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในลำไส้
– โรคจากพันธุกรรม ได้แก่ โรคซิกเคลเซลล์ (Sickle cell Disease) และโรคธาลัสซิเมีย (Thalassemia) เป็นต้น
4. ภาวะเศรษฐกิจ และสังคม
ความยากจน และภาวะขาดแคลนอาหารทำให้ผู้คนมีสิทธิเข้าถึงหรือเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงได้น้อยลง
การขาดธาตุเหล็กในวัยต่างๆ
1. เด็กทารก
เด็กวัยก่อนเรียน และเด็กวัยประถม โดยสาเหตุมักเกิดจากการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ได้รับธาตุเหล็กจากนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอ ดังนั้น เด็กในวัยนี้ที่ขาดธาตุเหล็กควรต้องได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเสริมร่วมด้วย เช่น ไข่แดง ตับ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจพบภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารของเด็กจากการแพ้นมผงจนเกิดภาวะโลหิตจางได้
2. เด็กวัยรุ่น
มักเกิดในเพศหญิงที่มีการสูญเสียเลือดทางประจำเดือนเป็นประจำ ประกอบกับได้รับธาตุเหล็กจากอาหารน้อย ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ง่าย และในวัยนี้มักพบเพศหญิงมีความต้องการธาตุเหล็กสูงกว่าเพศชาย
3. ผู้ใหญ่วัยทำงาน
การเกิดภาวะโลหิตจางในวัยนี้มักเกิดจากการสูญเสียเลือดจากรอยโรคต่างๆ อาทิ โรคพยาธิ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และโรคท้องร่วง รวมถึงอุบัติเหตุที่ทำให้เสียเลือดมากจากการทำงาน
4. หญิงตั้งครรภ์
ในระยะตั้งครรภ์มักเกิดการขาดธาตุเหล็กแบบสะสม จากการสูญเสียเลือดทางประจำเดือนในก่อนนั้น ประกอบกับความต้องการธาตุเหล็กสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดงของทารก ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กมากกว่าในช่วงอื่นๆ
กลุ่มเสี่ยงเกิดโรคโลหิตจาง
1. กลุ่มผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมักประสบปัญหาในเรื่องการรับประทานอาหาร และผลจากโรคต่างๆ เป็นหลัก เช่น เบื่ออาหาร เคี้ยวอาหารไม่ได้ รวมถึงโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มักทำให้เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กได้ง่ายขึ้น
2. กลุ่มวัยทำงาน และหญิงตั้งครรภ์
ในวัยทำงานมักมีการสูญเสียเลือดเรื้อรังจากโรคต่างๆ อาทิ โรคพยาธิ โรคแผลในระบบทางเดินอาหาร และการเสียเลือดจากอุบัติเหตุการทำงาน ส่วนหญิงตั้งครรภ์มักเกิดจาการสูญเสียเลือดสะสมในช่วงการเป็นประจำเดือน ประกอบกับความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากความต้องการธาตุเหล็กของทารกในครรภ์
3. กลุ่มผู้ที่บริโภคอาหารประเภทมังสวิรัติ
เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดจากการเน้นรับประทานอาหารจำพวกพืชผักมากกว่าเนื้อสัตว์ ทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ประกอบกับอาหารเหล่านั้นมีสารยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในปริมาณสูง จึงเกิดโอกาสเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางได้ง่าย
4. กลุ่มเด็ก
– กลุ่มเด็กทารก
เป็นวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี มักเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่เป็นผลมาจากขณะตั้งครรภ์ที่มารดาได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ทำให้เด็กทารกที่คลอดออกมามีปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำ ทำให้เด็กวัยนี้มีการพัฒนาทางร่างกาย และสมองต่ำกว่าปกติ ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างถาวร แต่ทั้งนี้ สามารถแก้ไขด้วยการเสริมธาตุเหล็กในนมหรืออาหารอย่างต่อเนื่องหลังคลอด
– กลุ่มเด็กวัยเรียน
อายุตั้งแต่ 2 – 5 ปี มักเป็นความเสี่ยงสะสมที่เกิดต่อเนื่องจากวัยในช่วงอายุต่ำกว่า 2 ปี ประกอบกับเด็กในวัยนี้บางรายมีอาการกำเริบจากการป่วยด้วยโรคที่มีผลต่อการลดลงของเม็ดเลือดแดง เช่น โรคธาลัสซีเมีย
5. กลุ่มวัยรุ่น
เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางได้มากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงที่มีประจำเดือน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่จะต้องมีธาตุเหล็กเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
อาการโรคโลหิตจาง
1. อาการเหนื่อยง่ายจากการออกแรงไม่มาก เช่น การเดินขึ้นบันได การเดินเร็วๆ ซึ่งอาหารเหนื่อยอาจเกิดรุนแรงมากสำหรับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางขั้นรุนแรง ทำให้การออกแรงเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เหนื่อยหอบได้ รวมถึงมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หัวใจสั่น เป็นลม หมดสติ และอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายได้
2. อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หรือเป็นลม หน้ามืด
3. อาการทางระบบประสาท เช่น รู้สึกมนงง หลงลืมง่าย หงุดหงิด ขาดสมาธิในการทำงาน
4. อาการหัวใจขาดเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยภาวะโลหิตจางส่งเสริมให้เกิดอาการกำเริบ และรุนแรงมากขึ้น
6. อาการการปวดตามกล้ามเนื้อจากการขาดเลือดของกล้ามเนื้อ ภาวะโลหิตจางส่งเสริมให้เกิดอาการกำเริบ และรุนแรงมากขึ้น
7. มีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้องจากภาวะเซลล์ขาดเลือด และออกซิเจน
ลักษณะเฉพาะโรคโลหิตจางที่ตรวจพบ
1. อาการชี้ชัดภาวะโลหิตจาง ได้แก่ เกิดอาการซีดบริเวณต่างๆ ได้แก่ สีผิวซีด โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ ใต้เล็บ และเยื่อบุเปลือกตาล่าง
2. อาการบ่งชี้สาเหตุภาวะโลหิตจาง เช่น อาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) จะหมายถึง ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกสลายของเม็ดเลือดแดง
ผลกระทบจากภาวะโลหิตจางในวัยต่างๆ
1. เด็ก ทารกและเด็กเล็ก 0-2 ปี การขาดธาตุเหล็กในร่างกายปีแรกเป็นภาวะวิกฤตต่อการมีพัฒนาการเจริญเติบโต มีการสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้อย่างถาวร
2. เด็กก่อนวัยเรียน 2-5 ปี มีผลกระทบเช่นเดียวกับเด็กเล็กแต่ยังแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง
3. เด็กวัยเรียนและเด็กวัยรุ่น การพร่องธาตุเหล็กแม้จะยังซีด ก็เกิดผลร้ายต่อทั้งพัฒนาการทางร่างกายและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก
4. หญิงเจริญพันธุ์ การขาดธาตุเหล็กเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการคลอดทารก น้ำหนักน้อย
(ต่ำกว่า 2,500 กรัม) การคลอดก่อนกำหนด การตกเลือดขณะคลอด เป็นสาเหตุที่สำคัญของการตายระหว่างการคลอด
5. ประชาชนทั่วไป มีผลต่อขีดความสามารถในการทำงาน และลดภูมิต้านทานของโรค
การรักษาจากการขาดธาตุเหล็ก
1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย
เป็นขั้นตอนที่ช่วยในการวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น ได้แก่
– การซักประวัติการกินอาหาร โรคพยาธิ และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น วัณโรค โรคติดเชื้อ โรคตับโรคริดสีดวงทวารหนัก เป็นต้น
– การเสียเลือดทางใดทางหนึ่ง เช่น เลือดกำเดาเรื้อรัง มีเลือดออกทางกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เป็นต้น
– ประวัติการกินยา และถูกสารเคมีบางอย่าง
– ประวัติครอบครัว และญาติพี่น้องที่เป็นโรคโลหิตจาง
2. การเติมธาตุเหล็กในอาหาร ( Food Fortification)
เป็นวิธีการเสริมธาตุเหล็กผสมในอาหารเพิ่มปริมาณธาตุเหล็กให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย วิธีนีเหมาะสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ และผู้ป่วยที่ต้องควบคุมอาหารบางรายการ นอกจากนั้น วิธีนี้ยังใช้ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และยากจน พลเมืองขาดธาตุเหล็ก ด้วยการเสริมธาตุเหล็กในอาหารประจำวัน เช่น ข้าวสาลี แป้งข้าวโพด หรือเครื่องปรุง เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำตาล เกลือ เป็นต้น
3. อาหารเสริมธาตุเหล็ก (Oral Supplementation)
จากการรับประทานอาหารตามธรรมชาติที่อาจทำให้ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอหรือมีข้อจำกัดในเรื่องการเสริมธาตุเหล็กในอาหาร หรือมีปัญหาในเรื่องการรับประทานอาหาร อาจต้องใช้วิธีการรับประทานธาตุเหล็กในรูปอาหารเสริมธาตุเหล็กเข้มข้น ซึ่งอาจเป็นชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำ
4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
เป็นแนวทางที่สำหรับรักษา และป้องกันโรคโลหิตได้ควบคู่กันทั้งในผู้ป่วย และคนปกติ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในกลุ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเป็นประจำ เช่น เนื้อสัตว์ ตับ และเครื่องในต่าง ร่วมกับหลีกเลี่ยงพืชผักที่มีโฟเลท และแทนนินสูง
เพิ่มเติมจาก : เสริมศุกดิ์ เคลือบทอง, 2551. ปัจจัย ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็กของนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในกรุงเทพมหานคร.