โรคท้องร่วง ท้องเสีย สาเหตุการป้องกันดูแลรักษา
โรคอุจจาระร่วง (Diarrhoeal Diseases) หมายถึง โรคที่ทำให้เกิดการถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะเหลวหรือเป็นน้ำเกินกว่า 3 ครั้ง/วัน หรือมีการถ่ายอุจจาระที่มีเลือดปนอย่างน้อย 1 ครั้ง/วัน และหากมีการถ่ายอุจจาระในลักษณะดังกล่าวนานเกิน 2 สัปดาห์ ถือว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงแบบเรื้อรัง ทั้งนี้ การถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง แต่อุจจาระเป็นปกติไม่ถือว่าเป็นโรคอุจจาระร่วง
ชนิดของโรคอุจจาระร่วง
แบ่งตามระยะเวลาที่แสดงอาการ
1. อุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน มีอาการถ่ายอุจจาระอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายชั่วโมงหรือหลายวัน แต่มักหายภายใน 7 วัน
2. อุจจาระร่วงแบบยืดเยื้อ มีอาการถ่ายอุจจาระติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์
3. อุจจาระร่วงแบบเรื้อรัง มีอาการถ่ายอุจจาระติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์
แบ่งตามบัตรรายงานจากสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ
1. โรคอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย โปรตัวซัว ไวรัส และพยาธิ
2. โรคอุจจาระร่วงจากโรคบิด
3. โรคอุจจาระร่วงอาหารเป็นพิษ
4. โรคอุจจาระร่วงจากไข้แอนเทอริค
5. โรคอุจจาระร่วงจากอหิวาตกโรค
แบ่งตามสภาพการเกิดโรค
1. อุจจาระร่วงจากแบคทีเรียสร้างสารพิษ เมื่อผนังเซลล์เยื่อบุลำไส้ได้รับสารพิษที่ขับออกมาจากแบคทีเรียจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของเซลล์ทำเกิดอาการถ่ายเป็นน้ำ ขาดน้ำ และเกลือแร่ตามมา เมื่อตรวจอุจจาระจะไม่พบเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวปนออกมา เชื้อที้เป็นสาเหตุ ได้แก่ Vibiro cholerar 01, Staphylococus aureus และ Clostidium perfrinens
2. อุจจาระร่วงจากเชื้อต่างๆที่ทำลายผนังเซลล์โดยตรง ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุผนังเซลล์ภายในลำไส้ อุจจาระเป็นน้ำ มีมูกปนหรือมีมูกเลือดปนร่วม เมื่อตรวจอุจจาระจะพบเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวปนออกมา
สาเหตุของโรค
1. การติดเชื้อไวรัส
เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคอุจจาระร่วงที่สำคัญ ได้แก่ Rotavirus ซึ่งอาการของอุจจาระร่วงที่เกิดจากเชื้อไวรัสมักพบผู้ป่วยมีอาการไข้สูง และอาเจียนใน 3 วันแรก และอุจจาระมักเป็นสีเหลือง
บทความโดย Luxury Society Asia
2. การติดเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอุจจาระร่วง ได้แก่ Staphyloccus, Streptococus, Clostridium, Shigella และSalmonela โดยอุจจาระร่วงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดอาการอักเสบของลำไส้ร่วมด้วย เชื้ออุจจาระร่วงที่พบบ่อยจะเป็นจำพวกเชื้อซิกเกลล่า ( Shigella) ที่ทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อย มีสีเขียว และต่อมามีมูกเลือด และ เชื้อซัลโมเนลล่า (Salmonela) ที่ทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องอืด ถ่ายอุจจาระสีเขียว และมีไข้ร่วมด้วย นอกจากนั้นยังมีเชื้อที่ทำให้เกิดอุจจาระร่วงที่เป็นเชื้ออันตราย เช่น เชื้ออหิวาตกโรค (Vibrio cholerae)
3. เกิดจากโปรโตซัว และปรสิต
โปรโตซัวที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ได้แก่ Entamoeba histolytica ส่วนปรสิตที่ก่อให้เกิดโรค ได้แก่ Trichuris trichiura และ Strongyloides stercoralis รวมถึงพยาธิตัวแบนที่อยู่ในเนื้อสัตว์ต่างๆ ซึ่งเชื้อเหล่านี้มักพบปะปนเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด
4. ภูมิแพ้
สารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงที่สำคัญมักพบในอาหารต่างๆ รวมถึงการรับประทานยาบางชนิด
5. การขาดสารอาหาร
การขาดสารอาหารที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงพบมากในเด็กที่ขาดสารอาหาร เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างน้ำย่อยสำหรับการย่อยอาหารที่เพียงพอได้ โดยเฉพาะเอนไซม์ Lactase และLactose ทำให้อาหารถูกย่อยไม่หมด มีอาหารในระบบมาก ประกอบกับอาหารที่เหลืออยู่มักจะมีจุลินทรีย์ก่อโรคที่ทำให้เกิดอุจจาระร่วงได้
การติดต่อ และแพร่กระจายของเชื้อ
การติดต่อ และแพร่กระจายของโรคอุจจาระร่วงพบมากจากสาเหตุการรับประทานอาหาร และน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร โดยเชื้อจะมีการฟักตัว และเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะถูกขับถ่ายอออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย และแพร่กระจายปะปนกับสิ่งมีชีวิต รวมถึงผักผลไม้ อาหาร น้ำดื่ม เข้าสู่ร่างกายคนเราได้อีก นอกจากนี้ เชื้อยังสามารถแพร่กระจายจากการอาเจียนของผู้ป่วย รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้ป่วยสัมผัสได้ด้วย
อาการของโรค
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารจนไปถึงลำไส้ เชื้อเหล่านี้จะรบกวนการส่งน้ำ และอิเล็กโตรไลท์ ผ่านน้ำเข้าสู่เยื่อบุลำไส้ หรือมีการหลั่งน้ำน้ำ และอิเล็กโตรไลท์เข้าสู่ลำไส้มากขึ้นจนลำไส้เต็มไปด้วยของเหลว และเกิดการบีบตัวของลำไส้ผลักเอาของเหลวพร้อมอุจจาระเข้าสู่ลำไส้ใหญ่อย่างรวดเร็วทำให้เกิดการถ่ายอุจจาระเหลวตามมา
สำหรับการได้รับเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียน ตัวร้อน เป็นไข้ในช่วงวันแรกๆ และเริ่มถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมูกเลือดปะปนออกมา ต่างกับการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นหลัก
นอกจากนั้น โรคอุจจาระร่วงยังทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการต่างๆตามมาจากการสูญเสีย และขาดน้ำ ได้แก่
1. การกระหายน้ำ ถือเป็นอาการขั้นแรกที่เกิดขึ้น แต่ในเด็กจะบ่งบอกได้ยาก นอกจากจะให้ลองดื่มน้ำดูจึงแสดงอาการดื่มน้ำแบบกระหาย
2. น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำของร่างกายปนออกมากับอุจจาระจำนวนมาก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีน้ำหนักลดได้มากถึงร้อยละ 10 ซึ่งอาจเกิดได้ภายใน 2-5 ชั่วโมง หรือ 1-3 วัน
3. เบ้าตาลึก บริเวณดวงตาแห้ง และบุ๋มลึกลง รวมถึงกระหม่อมบุ๋ม โดยเฉพาะอาการที่เกิดกับเด็กต่ำกว่า 2 ปี อาการนี้ถือเป็นอาการที่แสดงได้อย่างชัดเจนของการขาดน้ำ โดยเฉพาะในเด็ก
บทความโดย Luxury Society Asia
4. ปากแห้ง เนื่องจากมีน้ำลายน้อยลง ร่างกายไม่สามารถสร้างน้ำลายได้อย่างเพียงพอจากที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากทำให้ปากมีลักษณะแห้ง และซีด
5. หายใจเร็วขึ้น คล้ายโรคหอบหืด เนื่องจากภาวะร่างกายเสียสมดุลน้ำ ในเด็กที่ขาดน้ำจะหายใจเร็วขึ้นที่ 40-60 ครั้ง/นาที มีอาการหายใจลึก และแรงกว่าปกติ
6. ปัสสาวะน้อย เนื่องจากน้ำในร่างกายน้อยลง และมีการดูดกลับน้ำจากของเสียมากขึ้นเพื่อรักษาปริมาณน้ำในร่างกาย สำหรับในเด็กปกติจะถ่ายปัสสาวะทุก 3 ชั่วโมง แต่สำหรับเด็กที่ขาดน้ำจะมีการถ่ายปัสสาวะน้อยกว่าเดิม อาจเป็นทุก 5-8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
7. ชีพจรเต้นเบา เป็นอาการต่อเนื่องจากภาวะร่างกายขาดน้ำ
8. กระหม่อมปุ๋ม เป็นอาการที่พบเฉพาะในเด็กทารกที่กระโหลกศรีษะยังไม่เชื่อมสนิท เมื่อเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำจะทำให้กระหม่อมบริเวณรอยต่อของกระโหลกศรีษะยุบตัวลง
9. ผิวหนังขาดความยืดยุ่น โดยในภาวะปกติเมื่อหยิบผิวหนังยกขึ้น และปล่อย ผิวหนังจะกลับคืนสภาพเดิมได้อย่างรวดเร็ว แต่หากมีภาวะขาดน้ำผิวหนังจะกลับสู่สภาพเดิมอย่างช้าๆ
10. มีอาการไข้ ที่เกิดจากภาวะติดเชื้อจากร่างกายที่อ่อนแอลงขณะเกิดโรค อาการไข้มักพบได้ในทุกวัย
11. หากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยบางรายจะเกิดอาการช็อก
การรักษา
การรักษาจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
1. การรักษาเบื้องต้น ด้วยการดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียจากการถ่ายอุจจาระเหลว
2. การรักษาเมื่อพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้รับประทานน้ำ และเกลือแร่ หรืออาจให้ผ่านทางสายน้ำเกลือเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง ร่วมด้วยกับการรับประทานยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยบางงรายที่ไม่ต้องการพบแพทย์สามารถหาซื้อยาแก้ท้องร่วงมารับประทานเองก็ได้ ร่วมกับการรักษาเบื้องต้น
แนวทางการรักษา กรมควบคุมโรค
1. ไม่ควรงดอาหาร สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก สามารถรับประทานอาหารได้ ซึ่งควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น น้ำแกง น้ำซุป และข้าวต้ม
2. ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โดยดื่มตลอดเลาตั้งแต่เริ่มป่วยมีอาการของโรคจนถึงระยะที่เริ่มหาย โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ร่วมกับเกลือแร่ครึ่งช้อนชา ละลายน้ำร้อน 750 ซีซี หรืออาจหาซื้อผงเกลือแร่ตามร้านขายยาทั่วไปมาชงดื่ม
3. ให้เกลือแร่่ริงค์เกอร์แลคเตท เข้าเส้นเลือด
4. การรับประทานยาปฏิชีวนะสำหรับการฆ่าเชื้อ
การป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรค
1. การปรับปรุงระบบสุขาภิบาลของห้องน้ำ ห้องส้วม ไม่ให้มีการแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก รวมถึงการกำจัดสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำ ห้องส้วมให้ถูกสุขลักษณะ
2. การปรับปรุงคุณภาพน้ำใช้ น้ำดื่ม ให้สะอาด และเพียงพอ
3. การเตรียมอาหาร และการปรุงอาหารต้องมีกรรมวิธีที่สะอาด ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ ที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อได้ รวมถึงการเก็บรักษาอาหารให้มิดชิด ป้องกันการจับตอมของแมลงต่างๆ โดยเฉพาะแมลงวัน
4. สำหรับเด็ก ควรส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรด้วยนมมารดา เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็กที่เกิดจากการเลี้ยงด้วยนมผงหรืออาหารอื่นที่อาจทำให้เกิดการขาดสารอาหาร
5. ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ควรระวังหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้เกิดอาหารภูมิแพ้ท้องร่วงได้ รวมถึงการรับประทานยาชนิดต่างๆควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
โรคอุจจาระร่วง
บทความโดย Luxury Society Asia