โรคตาแดงเกิดจากอะไร สาเหตุการเกิดวิธีการรักษาเบื้องต้น


โรคตาแดง หมายถึง โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาทำให้เกิดอาการตาแดง น้ำตาไหล เจ็บตา และมีขี้ตา โดยเกิดจากสาเหตุต่างๆ อาทิ การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และภูมิแพ้

ทั้งนี้ โรคตาแดงสามารถแบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรคเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. การติดเชื้อไวรัส
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตาแดง ได้แก่ เชื้อไวรัสอะดิโน (adenovirus) ที่การฟักตัวที่ 2-14 วัน เชื้อไวรัสเอนเทอโร ชนิด 70 และไวรัสคอกแซกก์เอ ชนิด 24 ซึ่งส่วนใหญ่การเกิดโรคตาแดงจะเป็นการระบาดของเชื้อไวรัสคอกแซกก์เอ ชนิด 24 ที่ระยะฟักตัว 8-48 ชั่วโมง

2. การติดเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคตาแดง เช่น เชื้อสะเตรปฟิโลคอคคัส เอพิเดอร์มิส (strepphylococus epidermidis) สเตรปฟิโลคอคคัส ออเรียส (strepphylococus aureus) นิวโมคอคคัส (pneumococus) โกโนคอคคัส (gonococus) และฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนซาร์ (haemophilus influenza) มักพบทำให้เกิดอาการตาแดงข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วลามไปอีกข้างหนึ่ง

3. ภูมิแพ้
เป็นภาวะที่ภูมิต้านทานไวของร่างกายเกินปกติ ชนิด ที่ 1 ซึ่งเป็นภูมิแพ้ที่เกี่ยวข้องกับโรคตาอักเสบจาการแพ้ เช่น การแพ้ฝุ่นควัน การแพ้ละอองเกสรดอกไม้ เครื่องสำอาง ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาแดง
1. การอยู่รวมกัน
การอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะหรืออยู่ร่วมกันหลายคน เป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค และการแพร่กระจายของโรค เนื่องจากโรคตาแดงสามารถติดต่อ และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วจากการสัมผัสหรือการใช้สิ่งของร่วมกัน

2. อายุ และภูมิต้านทาน
โรคตาแดงมักพบมากในวัยเด็ก เนื่องจากอุปนิสัยที่ชอบหยิบจับ และไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด ประกอบกับวัยเด็กเป็นวัยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสเกิดโรคตาแดง และแพร่กระจายติดต่อกันได้ง่ายกว่าวัยอื่น

บทความโดย Luxury Society Asia

3. ความสะอาด
เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคตาแดงมีการแพร่กระจายติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว หากร่่างกายหรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงอุปกรณ์ส่วนตัวต่างๆที่มีความสกปรก และติดเชื้อ ดังนั้น จึงต้องมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ ผงซักผ้า น้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์ส่วนตัวต่างๆ

4. ฤดูกาล
โรคตาแดงมักระบาดหนักในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีอากาศอับชื้น ฝนตก ทำให้เชื้อโรคเติบโต และเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับร่างกาย เสื้อผ้า รวมถึงเครื่องใช้มักเปียกหรืออับชื้นทำให้เชื้อเกาะติด และอาศัยอยู่ได้ง่ายขึ้น จากสถิติผู้ป่วยโรคตาแดงจะมีอัตราซุกชุมในช่วงเดือนมิถุนายน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงเดือนสิงหาคม หลังจากนั้น อัตราการเกิดโรคจะค่อยลดลง

ลักษณะของการเกิดโรค
1. เส้นเลือดขยายตัว (vasodilation) และสีเข้มข้น (hyperemaia) เป็นอาการตาแดงโดยมีเส้นเลือดฝอยบริเวณเยื่อบุตามีการปล่อยน้ำเข้าสู่เนื้อเยื่อ และเคลื่อนที่ผ่านผนังเส้นเลือดของเม็ดเลือดขาว นอกจากนั้น ในบางรายจะพบมีเม็ดเลือดแดงถูกปล่อยออกมาด้วย ทำให้เป็นจุดสีแดง กลม แต่ไม่นูน บางรายอาจเกิดอาการอักเสบรุนแรงมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาด้วย

2. อาการบวมของชั้นใต้เยื่อบุผิวของเยื่อบุตา ซึ่งจะพบการบวมที่เยื่อบุตาทางด้านหน้าของลูกตา และเยื่อบุตาถัดจากเปลือกตามายังลูกตา เป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นด้วยการผ่านเยื่อขวางกั้นลูกตา

3. ชั้นเยื่อบุผิวของเยื่อบุตาขยายตัวมากขึ้น ชั้นเยื่อบุผิวด้านนอกมีการแบ่งตัว และหลุดลอกมาทำให้เกิดขี้ตา ผู้ป่วยบางรายที่เกิดโรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรียนั้น ในขี้ตาจะประกอบด้วยเซลล์ต่างๆที่อักเสบออกมา เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซท์ เซลล์ของเหลวของหลอดเลือด และน้ำเหลือง เซลล์ของนิวเคลียส ทำให้เกิดเป็นหนองขึ้นได้

4. ชั้นเยื่อบุผิวของเยื่อตาบริเวณเปลือกตาด้านในจะเกิดเส้นเลือดงอกใหม่ขึ้น เส้นเลือดเหล่านี้มีลักษณะตั้งฉากกับแนวเดิมของเส้นเลือดเยื่อบุตา พร้อมกับเกิดเนื้อเยื่อของชั้นเยื่อบุตาล้อมรอบเส้นเลือดที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้เกิดลักษณะของเยื่อบุตาที่หยาบคล้ายกำมะหยี่ ลักษณะเส้นเลือดที่เกิดนี้เรียกว่า เส้นเลือดขยายตัวตรงกลาง ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบอย่างรุนแรงหรือเกิดปานกลาง

5. ในผู้ป่วยบางรายจะพบเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่มีลักษณะเป็นเม็ดใสๆเหนือชั้น epithelium ซึ่งจะเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ

6. เมื่อแผลหายจะพบการอักเสบ และจำนวนเชื้อที่ลดลง

บทความโดย Luxury Society Asia

อาการของโรค
1. อาการโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส
– อาการตาแดงจากเชื้อไวรัสอะดิโนมักจะเป็นทั้งสองข้าง
– อาการตาแดงเริ่มแรกจะพบที่ข้างเดียวก่อน และจะติดต่อไปยังตาอีกข้างภายในสัปดาห์แรก
– อาการหลังการติดเชื้จะพบอาการตาแดง ปวดตา มีการเคืองตา และน้ำตาไหล
– มีอาการต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต และปวด เปลือกตา และเยื่อบุตาบวม และมีเลือดออก
– ในช่วง 5-14 วัน จะอาการกลัวแสง มองแสงนานไม่ได้ มีอาการแสบตาหากสัมผัสแสง จากการอักเสบของกระจกตา
– ลักษณะตาแดงจากการอักเสบจะหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่การอักเสบของกระจกตาอาจใช้เวลานานกว่าที่ 3-5 สัปดาห์

สำหรับอาการตาแดงจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโร 70 และไวรัสค็อกแซกกีเอ 242
– อาการตาแดงจะเกิดประมาณ 5-7 วัน พบมีการปวดตา กลัวแสง เคืองตา และน้ำตาไหล
– ต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต ม่านตาอักเสบ มีเลือดใต้เยื่อบุตาขาว อาการเลือดออกจะหยุดภายใน 7-12 วัน
– ปวดเมื่อตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร่างกายอ่อนแรง ตัวร้อน และมีไข้ตามมาด้วย
– อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดแผลที่กระจกตา กระจกตาเป็นหนอง ม่านตาอักเสบ มีเลือดออกบริเวณในตา

2. อาการโรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรีย
ลักษณะอาการตาแดงจะเข้มมาก มีขี้ตาออกสีเหลืองหรือสีเขียว ซึ่งจะเกิดมากหลังการตื่นนอน มักทำให้ลืมตาไม่ขึ้นเนื่องจากขนตาบน และขนตาล่างติดกันจากขี้ตาที่ไหลออกมา  อาการอักเสบมักจะเกิดขึ้นทั้งสองข้างของตา มักพบไม่ค่อยมีอาการปวดตา เคืองตา และอาการขันตามาก ดังนั้น หากการเป็นโรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรียเมื่อตื่นนอนตอนเช้าจะพบว่าตาจะลืมไม่ขึ้น

3. อาการโรคตาแดงจากภูมิแพ้
อาการตาแดงที่เกิดจากภูมิแพ้จะไม่ค่อยทำให้ตาแดงมากนักเหมือนการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และไวรัส  ตาขาวจะมีสีแดงเรื่อๆ และมีน้ำตาไหลออกมาในช่วงแรกๆ ซึ่งจะมีลักษณะใส ต่อมาน้ำตาจะเหนียว  ไม่พบมีขี้ตา แต่จะมีอาการคันตามาก โดยเฉพาะตรงหัวตาทำให้ต้องขยี้ตาบ่อย ซึ่งการขยี้ตามากนี้เองมักจะทำให้เกิดการบวมซ้ำของเยื่อบุตา และการติดเชื้อตามมา อาการตาแดงจากภูมิแพ้มักจะเป็นๆหายๆในระยะเวลาสั้นๆไม่นานเหมือนอาการตาแดงจากการติดเชื้อ

การรักษา
1. การรักษาจากการติดเชื้อไวรัส
การรักษาโรคตาแดงประเภทนี้ให้ทำการรักษาตามอาการ ได้แก่
– การประคบน้ำเย็น
– การใช้ยาหยอดตาที่มีสารต้านฮีสตามีน เช่น แอนต้าโซลีนไฮโดรคลอไรด์
– หากมีอาการแสบตา และน้ำตาไหลมากให้หยอดตาด้วยซิ้งค์ซัลเฟต
– หากเกิดขี้ตาอาจใช้ยาปฏิชีวนะป้ายตาก่อนนอน
– หากมีอาการปวดเมื่อยร่างกาย ตัวร้อน และเป็นไข้ อาจใช้การรับประทานยาแก้ปวด และลดไข้
– ควรพบแพทย์ และปรึกษาแพทย์

2. การรักษาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
– การใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาดตา
– การหยอดตาด้วยยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น sulfacetamide sodium หรือ chloramphenical ครั้งละ 1 หยด วันละ 4 ครั้ง
– การใช้ขี้ผึ้งป้ายตาก่อนอน
– ควรพบแพทย์ และปรึกษาแพทย์

3. การรักษาจากการเป็นภูมิแพ้
– ให้หลีกเลี่ยงการขยี้ตา และประคบด้วยน้ำเย็นเพื่อลดอาการคัน
– การหยอดตาเพื่อลดอาการคัน อาการตาแดง และการติดเชื้อตามมา เช่น hista-oph eye drop หรือ alomide eye drop ครั้งละ 1 หยด วันละ 4 ครั้ง
– ควรพบแพทย์ และปรึกษาแพทย์

ยาหยอดตา

การป้องกันโรคตาแดง
1. หลีกเลี่ยงการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่เชื้อโรคมีโอกาสแพร่กระจายได้ง่าย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของ ร่างกายของผู้เป็นโรคตาแดง
2. หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น
3. ทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว รวมถึงสถานที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มักมีอากาศอับชื้น สำหรับสถานศึกษาของนักเรียนในวัยเด็กซึ่งเป็นสถานที่ที่มักมีเกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ควรมีมาตรการในการป้องกันโรคตาแดง อาทิ การล้างมือทำความสะอาด การคัดแยกกลุ่มเด็กผู้ป่วย การทำความสะอาดอุปกรณ์ และสถานที่เป็นระยะ
4. ควรเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดภายในบ้านหรือเป็นเครื่องใช้ส่วนตัวสำหรับทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์อื่นๆให้พร้อม และพอเพียงเสมอ
5. ควรทำความสะอาดมือเวลาหยิบจับสิ่งของ หรือก่อนรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในฤดูฝนที่เชื้อสามารถเกาะติดตามร่างกายได้ง่าย

บทความโดย Luxury Society Asia

การปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วย
1. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตาแดงควรหยุดเรียน หยุดทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ติดต่อสู่คนอื่น
2. ควรอยู่ภายในบ้านหรือที่ร่ม ไม่ควรมองสัมผัสแสงจ้า โดยเฉพาะในระยะที่เยื่อบุตาเริ่มอักเสบ
3. หากสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ หรือก่อนรับประทานอาหาร ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
4. ควรจัดหาอุปกรณ์หรือเครื่องใช้สำหรับทำความสะอาด เช่น สบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อให้เพียงพอ และมั่นทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงสถานที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ และสัมผัสกับเชื้อเพิ่มขึ้น
5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่ยังไม่เป็นโรคตาแดง
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตาหากเกิดอาการคันหรือแสบตา เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น

 

โรคตาแดง

บทความโดย Luxury Society Asia


Similar Posts