อาการเครียดลงกระเพาะ โรคกระเพาะอักเสบ แผลในกระเพาะ ความเหมือนและต่างของอาการและวิธีการดูแลรักษา

โรคกระเพาะอาการเป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อย ที่สำคัญได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ


อาการสำคัญ

ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือ หน้าท้องช่วงบน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นเวลาท้องว่า หรือเวลาหิว อาการจึงเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน อาการปวดแน่นท้อง มักจะบรรเทาได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด อาการปวด มักจะเป็นๆหายๆ โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปหลายเดือนจึงกลับมาปวดอีก
ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว แม้จะมีอาการเรื้อรังเป็นปี สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม โรคแผลกระเพาะอาหารจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆ หายๆ อยู่นานกี่ปีก็ตาม นอกจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารตั้งแต่แรกเริ่มโดยตรง

บทความโดย Luxury Society Asia

ภาวะแทรกซ้อน
           1. เลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หรือหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม
           2. กระเพาะอาหารทะลุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก
           3. กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยจะกินได้น้อย อิ่มเร็ว มีอาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง

หลักการปฏิบัติตัว
โรคแผลกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มักไม่หายขาดตลอดชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หลังได้รับยา อาการปวดจะหายไปก่อน ใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ใช้เวลาถึง 4-8 สัปดาห์ แผลจึงหาย เมื่อหายแล้ว จะกลับมาเป็นใหม่ได้อีกถ้าไม่ระวังปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ได้แก่
– กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
– กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ
– กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่กินให้บ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
– หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด สุรา
– งดสูบบุหรี่
– งดการใช้ยาแก้ปวด แอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบทุกชนิด
– ผ่อนคลายความเครียด กังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
– กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์
– ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน ต้องรีบไปพบแพทย์

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
เป็นการอักเสบของเยื่อบุด้านในกระเพาะอาหารเพียงส่วน หรือบางบริเวณเท่านั้น แบ่งเป็น
           1. โรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเฉียบพลัน หมายถึง โรคที่เป็นในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ก็หาย อาการสำคัญ คือ จะปวดท้องหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเป็นเวลากินอาหาร หรือหลังอาหารเล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่รุนแรง จะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระสีดำได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย สาเหตุที่พบบ่อย คือ จากอาหารเป็นพิษ พิษสุรา และจากยาที่มีฤทธิ์ระคายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบ
           2. โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หมายถึง โรคที่เป็นนานเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการไม่มากหรือแทบไม่มีอาการอะไรเลย นอกจากแน่นท้องเป็นๆ หายๆ เท่านั้น หลักการปฏิบัติตัวเหมือนผู้ป่วยแผลกระเพาะอาหาร เพิ่มเติม

เครียดลงกระเพาะ

แท้จริงแล้วก็คือโรคกระเพาะที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา (ไม่มีแผลที่กระเพาะอาหาร) แต่เป็นการสั่งการของสมอง ยิ่งเครียดก็ยิ่งกระตุ้นให้กระเพาะเกิดการบิดตัว และหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ ทำให้เมือกในกระเพาะอาหารเสียสมดุลและเกิดการระคายเคืองในช่องท้องได้

บทความโดย Luxury Society Asia

อาการเครียดลงกระเพาะ บางคนอาจมีหายใจเร็ว ขนลุก อยากอาหารมากกว่าปกติ คลื่นไส้ รู้สึกหงุดหงิด หรือนอนไม่หลับ ถ้าใครมีอาการดังกล่าวนอกจากปวดท้องเวลาเครียดล่ะก็ สันนิษฐานได้เลย ว่าคุณเข้าสู่ลัทธิเครียดลงกระเพาะไปครึ่งก้าวแล้ว

การดูแลรักษาโรคเครียดลงกระเพาะสามารถรักษาให้หายขาดได้ วิธีการก็พื้นๆ เลย ตามที่เราเคยได้ยินกันมาตลอด ทั้งการกินอาหารให้เป็นเวลาครบ 3 มื้อ เลี่ยงอาหารรสจัด ย่อยยาก อาหารหมักดอง ของมัน ของทอด ไม่สูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ ต่างๆ

เรื่องการกินข้างบนฟังดูควบคุมง่ายอยู่ใช่ไหมล่ะ แต่ความจริงส่วนที่ทำยากที่สุดในการรักษาโรคนี้ คือการรับมือกับความเครียดนี่แหละ ซึ่งการผ่อนคลายความเครียดในแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันไป บางคนก็เล่นเกม บางคนออกกำลังกาย บางคนก็ท่องเที่ยว บางคนเล่นกับสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงการช้อปปิ้งก็สามารถช่วยลดความเครียดได้ด้วย แต่การช้อปปิ้งต้องระวังนิด บางทีช้อปเสร็จเห็นยอดบัตรเครดิตสิ้นเดือนอาจเครียดกว่าเก่าได้ด้วย

ซึ่งหากควบคุมปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหาร และการควบคุมความเครียดที่บอกไปข้างบนทั้งหมด ก็จะสามารถช่วยให้อาการดีขึ้นหรือหายขาดจากโรคเครียดลงกระเพาะได้เลยโดยไม่ต้องมาหาหมอเลยด้วยซ้ำ แต่หากลองปฎิบัติตัวตามที่แนะนำแล้วยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ดีกว่านะ

บทความโดย Luxury Society Asia