วิศวกรซินโครตรอนไทยพัฒนาตู้เย็นพลังงานสะอาดเพื่อพื้นที่ชนบท
ตู้เย็นพลังงานสะอาดนี้ความเดิมเริ่มจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานตู้เย็นน้ำมันก๊าดที่มีอายุ 60 ปี แก่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และได้มีพระราชดำริให้ทำการซ่อมแซมตู้เย็นเก่าแก่อันนี้ให้สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และแน่นอนว่าด้วยศักยภาพของนักวิศวกรสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนไทยที่ไม่แพ้ใครในโลก วันนี้สามารถนำตู้เย็นน้ำมันก๊าดกลับมาใช้งานได้จริงๆ แล้ว และดูเหมือนจะเป็นประโยชน์อย่างมากด้วย
เป็นประโยชน์ยังไง นี่คือคำถามที่หลายคนสงสัยแต่เดี๋ยวเราจะมาเฉลยกันแน่นอน ก่อนอื่นไปทำความรู้จักตู้เย็นนี้อย่างถี่ถ้วนกันก่อนเลย
ตู้เย็นน้ำมันก๊าดหรือตู้เย็นแอมโมเนียแบบตะเกียงน้ำมันก๊าด เป็นเทคโนโลยีที่มีใช้กันมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ปีที่ผ่านมา จุดเด่นของตู้เย็นชนิดนี้ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาคือ มันไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเลย แต่ใช้ระบบทำความเย็นแบบดูดซึม
ในระบบทำความเย็นแบบดูดซึมมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ เครื่องกำเนิดไอ เครื่องควบแน่น เครื่องระเหย ส่วนสารทำความเย็นคือแอมโมเนีย โดยใช้น้ำเป็นสารดูดซึมในระบบ และอาศัยพลังงานความร้อนในการขับเครื่องทำความเย็นให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็คือ พลังงานสะอาด หรือ Green energy นั่นเอง ที่ใช้พลังงานธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานจากธรรมชาติมีข้อดีตรงที่สามารถนำมาใช้ได้ไม่มีวันหมด และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษอื่นๆ
ความสำเร็จจากการซ่อมแซมตู้เย็นน้ำมันก๊าดครั้งนี้ นำไปสู่การพัฒนาตู้เย็นประหยัดพลังงาน 3 ระบบ ประกอบด้วย การใช้พลังงานจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากแก๊สหุงต้ม และพลังงานจากน้ำมันก๊าดในเครื่องเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงที่นักวิจัยกำลังพัฒนา
ถัดมาเป็นประโยชน์ของตู้เย็นเครื่องนี้ที่ทุกคนรอคอย แน่นอนว่าตู้เย็นมีไว้เพื่อแช่อาหารหรือของต่างๆ ให้สดใหม่อยู่เสมอ ตู้นี้จึงไม่ได้สร้างประโยชน์กับคนในเมืองที่มีไฟฟ้าใช้เท่าไหร่นัก แต่จะเป็นตู้ที่สำคัญอย่างมากกับพื้นที่ชนบท อย่างพื้นที่บนภูเขาสูง ในทะเล หรือแม่น้ำ ที่ประชาชนอาศัยอยู่บนเรือ ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และห่างไกลจากเทคโนโลยี
การมีตู้เย็นน้ำมันก๊าดที่ใช้พลังงานสะอาดนี้ จะทำให้ชีวิตการกินอยู่ของคนชนบทดีขึ้น และไม่ใช่แค่อาหารการกินเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงวัคซีนหรือยาบางประเภทที่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อไม่ให้เสีย จะได้เป็นการเก็บสำรองไว้รักษาผู้ป่วยในชนบทให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นด้วย
ที่มา https://www.slri.or.th/…/ย้อนรอยตู้เย็นน้ำมันก๊าด-สู่การพัฒ…