“ยกโรงละครแห่งชาติออกไปหาประชาชน” งานครั้งประวัติศาสตร์ โอกาสทองของคนไทย ร่วมชมการแสดงโขนประกอบแสงสีเสียงสุดยิ่งใหญ่ ณ วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา วันที่ 9 – 10 มีนาคม 2567
การแสดงโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สัจจะพาลี เริ่มเวลา 17:30 น. งานนี้เข้าชมได้ฟรี โดยผู้ชมเพียงชำระค่าเข้าโบราณสถานเพียง 10 บาทต่อท่าน ซึ่งรายได้จะนำไปบำรุงสถานที่ต่อไป
การแสดงจะใช้ฉากหลังเป็น วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในโบราณสถานแห่งสำคัญของไทย ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกด้วยเช่นกัน ครั้งนี้นับเป็นพร้อมเทคนิคแสง สี เสียงอันทันสมัย รวมถึงการออกแบบเวทีการแสดงที่วิจิตรบรรจงและกลมกลืนกับสถานที่ในทุกมิติ
นอกจากนี้ ยังมีการบรรเลงวงออร์เคสตรา โดยวงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดแสดงก่อนการแสดงโขนให้ผู้เข้าชมได้เพลิดเพลินและดื่มด่ำกับบรรยากาศยามอาทิตย์อัสดง ในสถานที่แห่งประวัติศาสตร์แห่งนี้อย่างเต็มอิ่มอีกด้วย
นายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กล่าวว่า “สำนักการสังคีต ให้ความสำคัญในการดำเนินงานโครงการจัดการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีสัญจรไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เสมือนเรา “ยกโรงละครแห่งชาติออกไปหาประชาชน” โดยสร้างสรรค์และปรับองค์ประกอบการแสดง เล่าเรื่องให้กระชับและชวนติดตาม รวมทั้งผสานเทคโนโลยีอันทันสมัยมาเพิ่มอรรถรสในการชม ที่ไม่เพียงให้ถูกใจผู้ที่ติดตามการแสดงของเราเป็นประจำอยู่แล้ว

หวังให้คนรุ่นใหม่ รวมทั้งประชาชนนอกกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสชมการแสดงที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น การแสดงชุด “สัจจะพาลี” ที่จัดขึ้นที่วัดไชยวัฒนารามครั้งนี้ ถือเป็นอีกตอนที่มีความสำคัญของเรื่องรามเกียรติ์ ไม่เพียงมีเนื้อหาที่สนุกสนาน ยังเป็นตอนที่รวบรวมตัวละครเอกของเรื่องเอาไว้มากมาย รับรองได้ว่าผู้ชมจะได้รับชมอย่างมีความสุขแน่นอน”
นายสมคิด รุจีปกรณ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ก่อตั้งมากว่า20 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างยั่งยืนแก่คนในสังคมไทย หนึ่งในแนวทางหลักของการดำเนินงาน เราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ที่ดีงามของชาติไทย
งานนี้ผู้จัดอยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่เราอยากให้พวกเขาได้สัมผัส เรียนรู้ และร่วมสืบสานสิ่งอันมีค่าเหล่านี้ ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ร่วมมือกับกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพทักษะด้านช่างเพื่อบูรณะจิตรกรรม ประติมากรรมไทย
โครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่จริงนอกโรงเรียนให้กับคุณครู เพื่อใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตร ผ่านเส้นทางทัศนศึกษาโบราณสถาน รวมถึงโครงการบูรณะโบราณสถานของไทย และครั้งนี้เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมจัดงานแสดงโขนซึ่งถือเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่รวมศิลปะ หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน เราหวังว่านอกจากจะสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่มีโอกาสได้มาชมแล้ว ยังถือเป็นการช่วยสืบสานวัฒนธรรมไทยที่เป็นมรดกอันล้ำค่าให้ดำรงสืบไปอย่างงดงาม”