มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)คืออะไรและการดูแลตัวเองและรักษา
มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว ที่มีการสร้างเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ ทั้งในรูปที่เจริญเต็มที่ และไม่เต็มที่อย่างรวดเร็ว และเกิดผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด โดยจะมีรูปร่างแตกต่างไปจากเดิม
ระยะของโรคจะมีอาการเริ่มที่ไขกระดูกจนถึงกระแสเลือด ทำให้มีการสะสมของเซลล์เม็ดเลือดที่เป็นมะเร็งอย่างมากในไขกระดูก กระแสเลือด และอวัยวะต่างๆ และสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งชนิดนี้ พบมากที่สุดในเด็กหว่าประมาณร้อยละ 30 ของมะเร็งในเด็กทั่วไป
ชนิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute Leukemia)
เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เกิดการสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ไขกระดูกมีความผิดปกติ ทำให้มีการเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วของเซลล์เม็ดเลือดที่ไม่เจริญเต็มที่ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้พบได้ทุกวัย โดยเฉพาะกับเด็ก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันถ่วงที อาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1.1 ชนิดเฉียบพลันจากการแบ่งตัวของเซลล์ลิมป์โฟบลาสผิดปกติ (acute lymphoblastic leukemia: ALL) เป็นชนิดที่พบมากในเด็กกว่าร้อยละ 75-80 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบทั้งหมด
1.2 ชนิดเฉียบพลันจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ที่ไม่ใช่ลิมป์โฟบลาส (acute non – lymphoblastic leukemia: ANLL) พบในเด็กกว่าร้อยละ 25-30 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบทั้งหมด
2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic Leukemia)
เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีสาเหตุมาจากปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติในร่างกายมีจำนวนมาก มะเร็งชนิดนี้พบมากที่สุดในผู้ใหญ่ ประมาณร้อยละ 95 และพบในเด็กเพียงร้อยละ 5 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบในเด็ก
สาเหตุ
1. พันธุกรรม
การเกิดโรคที่พบในญาติพี่น้องของผู้ป่วยจะสูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่พบประวัติการเกิดโรคนี้ในเครือญาติกว่า 25% โดยมักจะมีการแสดงของโรคก่อนอายุ 2 ปี
2. สารรังสี
รังสีที่ได้รับในเด็กหรือมารดาขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ โดยพบหลักฐานการเกิดโรคนี้ในประชากรญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ พบการเกิดโรคมากกว่าคนปกติ 30 เท่า โดยพบในระยะหลังจากได้รับรังสีประมาณ 5-21 ปี
3. ยา และสารเคมี
สารเคมีที่มีเบนซิน คอลแรมฟินิคอล และยาเคมีรักษาประเภท cytotoxin โดยเฉพาะคนทำงานในโรงงานฟอกหนัง ทำสี โรงกลั่นน้ำมัน เหมืองถ่านหิน โรงงานผลิตยาฆ่าแมลง จะมีโอกาสเกิดโรคถึง 10 เท่า ของคนทั่วไป
4. บุหรี่
สารคาร์ซิโนเจนส์ (carcinogen) หลายชนิดในบุหรี่ เช่น เบนซิน, โพโลเนี่ยม 210 และ อะโรมาติคไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ สารเหล่านี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคได้มากถึง 31%
5. การติดเชื้อไวรัส
การติดเชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครโมโซมของเซลล์เม็ดเลือด ทำให้มีโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
อาการที่สำคัญของมะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ มีไข้ ตัวซีด เหนื่อยง่าย เลือดออก ปวดข้อ หรือปวดกระดูก พบก้อนที่คอหรือในช่องท้อง อาการมักค่อยเป็นค่อยไป อาการที่พบทั่วไป ได้แก่ อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด เลือดจาง มีตุ่มหรือผื่นตามผิวหนัง มีอาการซีด หรือมีการติดเชื้อในช่องปาก ปากเป็นแผล มีเลือดออกง่าย เลือดกำเดาไหล มีจ้ำเลือด จากที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ และเกร็ดเลือดต่ำ ต่อมน้ำเหลืองโต พบก้อนเนื้อจากตับโต ม้ามโต และอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท
กลุ่มของอาการแบ่งได้ ดังนี้
1. อาการที่แสดงจากไขกระดูกล้มเหลว (bone marrow failure) แสดงอาการซีด อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย มีไข้ เป็นหวัดเรื้อรัง มีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ มีจุดเลือดตามตัว เลือดออกง่าย มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีการติดเชื้อได้ง่ายกว่าธรรมดาเนื่องจากเซลล์ปกติที่สร้างในไขกระดูก ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือดถูกแทนที่ด้วยตัวอ่อนที่เรียกว่า บลาส (blast) ทั่วไขกระดูก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดกระดูก
2. อาการที่แสดงจากเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia cell) ได้แก่ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลืองโต
อาการตามระยะมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ระยะมะเร็งเม็ดเลือดขาว | จำนวนร้อยละเซลล์ตัวอ่อนในไขกระดูก | จำนวนร้อยละลิมโฟไซต์ และเซลล์ตัวอ่อนในไขกระดูก |
1 | 0-5.0 | 0-40.0 |
2 | 5.1-25.0 | 40.1-70.0 |
3 | 25.1-50.0 | มากกว่า 70.0 |
4 | มากกว่า 50.0 | มากกว่า 70.0 |
ระยะที่ 1 ผู้ป่วยมีอาการร่างกายอ่อนเพลีย ตัวซีด มีไข้จากการติดเชื้อ และมีเลือดออก เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ
ระยะที่ 2 มีอาการเบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบาย หงุดหงิด
ระยะที่ 3 มีอาการปวดข้อกระดูก โดยเฉพาะส่วนของกระดูกยาว เช่น กระดูกแขน กระดูกขา
ระยะที่ 4 มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต และอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆมักเกิดจากภาวะการติดเชื้อจากการทำงานเม็ดเลือดขาวปกติ และมีจำนวนน้อย ส่งผลทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งหากติดเชื้อแล้วมักเสี่ยงต่อการช็อคได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีค่าเม็ดเลือดขาว (ANC) น้อยกว่า 1,000 ตัว/ลบ.ม.
การวินิจฉัย
1. การตรวจเลือด
โดยผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มักพบจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวอ่อนเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000-50,000 ตัว/ลบ.ม. โดยเป็นชนิดลิมโฟบลาสต์ ไมอีโลบลาสต์ หรือ โมโนบลาสต์ และมักพบปริมาณเฮโมโกลบิน เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดลดลงด้วยเสมอ
2. การตรวจไขกระดูก
เป็นวิธีเพื่อยืนยันการวินิจฉัย วิธีนี้สวามารถแยกชนิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ และสามารถใช้เป็นแนวทางในการรักษาที่สำคัญต่อไป
3. การตรวจระดับยีน
เป็นการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัย และช่วยแยกชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน และพยากรณ์การเกิดโรค รวมถึงช่วยในการติดตามโรคหลังการรักษา แต่ทำได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในระดับยีนโครโมโซมเท่านั้น
4. การตรวจร่างกายอย่างละเอียด
เป็นขั้นตอนการตรวจร่างกายทั่วไปที่มีความละเอียดมากขึ้น เพื่อประเมินสภาพร่างกาย และความสมบูรณ์ของระบบต่างๆ ก่อนเริ่มทำการรักษาด้วยเคมีบำบัด เช่น การเจาะเลือด การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
5. การตรวจหาโรคภายนอก
เป็นการตรวจอวัยวะภายนอก เช่น การตรวจหาร่องรอยของเลือดออกผิดปกติบริเวณผิวหนัง และตา เป็นต้น
แนวทางการรักษา
1. การรักษาจำเพาะ
– การทำให้โรคสงบ ด้วยการกำจัดเซลล์มะเร็งให้มากที่สุด และทำอันตรายต่อเซลล์ปกติให้น้อยที่สุด เพื่อให้ร่างกายมีการสร้างเลือดปกติได้อย่างรวดเร็ว ในระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์
– การรักษาเข้มข้น ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดต่อจากระยะที่ 1 เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่โดยการให้ยาในขนาดสูงในระยะเวลาสั้นๆ ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
– การป้องกันการลุกลามเข้าระบบประสาทส่วนกลาง โดยการฉายรังสีบริเวณศีรษะ ร่วมกับการฉีดยาเข้าไขสันหลัง ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์
– การทำให้โรคสงบอย่างถาวร ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดหลายอย่างร่วมกัน ในระยะนี้ต้องมารับยาเคมีบำบัดต่อเนื่องนาน 3-5 ปี หากผู้ป่วยมีอาการดีโดยไม่มีอาการของโรค แพทย์ก็จะพิจารณาหยุดยา
2. การรักษาประคับประคอง
เป็นการรักษาโรคแทรกซ้อน และอาการข้างเคียงจากการให้ยา โดยต้องทำควบคู่กับการรักษาแบบจำเพาะ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ
– การรักษาทดแทน (Replacement therapy) ด้วยการให้เลือดเพื่อให้ระดับฮีโมโกลบินไม่น้อยกว่า 7-8 กรัม/ดล. ในระยะแรกก่อนโรคสงบ
– การรักษาด้วยเกร็ดเลือด หากผู้ป่วยมีเลือดออกจากจำนวนเกร็ดเลือดต่ำ จำเป็นต้องให้เกร็ดเลือดก่อนก่อนการให้ยา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้สูง เพราะมีเกร็ดเลือดต่ำมากจะทำให้ผู้ป่วยถึงเสียชีวิตได้รวดเร็วไม่เกิน 24 ชั่วโมง
วิธีการรักษา
1. การใช้เคมีบำบัด (chemotherapy)
เป็นยาที่ใช้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต และการแบ่งเซลล์ของมะเร็ง โดยการให้ยาหลายชนิดร่วมกันหรือใช้ยาเพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น
การให้ยามีความจำเป็นต้องให้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และต้องให้ยาหลายชนิดพร้อมกัน เพื่อที่จะควบคุมให้โรคสงบหรือทำให้มี blast cell ในกระแสเลือด และไขกระดูกต่ำกว่าร้อยละ 5 และยาที่ใช้จะต้องมีผลต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดอาการข้างเคียง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาได้อย่างดี
ระยะการรักษาแบบเคมีบำบัด
1. ระยะชักนำให้โรคสงบ (induction phase)
เป็นการให้ยาเพื่อทำลายเซลล์ในเวลาอันสั้นให้มากที่สุด และมีอันตรายต่อเซลล์ปกติให้น้อยที่สุด ทำให้ไขกระดูกสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวได้ตามปกติ ระยะนี้ใช้เวลา 4 – 6 สัปดาห์ ยาที่ใช้ ได้แก่ Vincristine, Adriamycin, L – Asparaginase และ Glucocorticoid
2. ระยะให้ยาแบบเต็มที่ (intensive or consolidation phase)
เป็นการให้ยาหลายชนิดร่วมกันภายหลังที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะโรคสงบแล้ว เพื่อให้ยาทำลายเซลล์มะเร็งให้เหลือน้อยที่สุด ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ยาที่ใช้ ได้แก่ Metrotrexate, 6 – MP และ Cyclophosephamide
3. ระยะป้องกันโรคเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง (CNS prophylaxis phase)
เป็นการให้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้โรครุกรามเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง เพราะผู้ป่วยโดยทั่วไปหลังการให้ยา มักมีโอกาสกลับเป็นโรคอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ ตับม้ามโต ยาที่ใช้ ได้แก่ Metrotrexate, Hydrocortisone และ ARA – C
4. ระยะควบคุมโรคสงบ (maintenance phase or continuation therapy)
เมื่อรักษาจนโรคสงบในระยะเวลา 2 – 3 เดือน หากไม่ได้รับการรักษาอีก ดังนั้น ในระยะนี้จะเป็นการให้ยาเพื่อควบคุม และรักษาโรคอย่างถาวร ยาที่นิยมใช้ คือ การให้ 6 – MP ด้วยการรับประทานทุกวัน ร่วมกับการให้ Metrotrexate
2. การใช้รังสี (radiatherapy)
การใช้รักษาด้วยรังสีรักษา เป็นวิธีการรักษาเพื่อป้องกันเซลล์มะเร็งแพร่เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะใช้คู่กับยาเคมีบำบัด โดยจะฉายรังสีทั่วบริเวณศีรษะ ขนาดต่ำที่ 2,400 แรด (rads) แบ่งให้ 12 ครั้ง ในเวลา 2-3 สัปดาห์ ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีในระยะสั้นจะทำให้เนื้อเยื่อมีการเปลี่ยนแปลง เกิดการขัดขวางการสร้าง และการทำหน้าที่ของดีเอนเอ (DNA) ในระยะไมโตซิส (mitosis) ทำให้เซลล์ตาย ส่วนผลในระยะยาวจะมีผลต่อการแตกของโครโมโซม การจัดเรียงตัวใหม่ และอาจมีผลต่อการแยกส่วนอย่างถาวรของโครโมโซม จนทำให้เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นได้
3. การปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow transplantion)
เป็นการเจาะเอาไขกระดูกบริเวณก้นสะโพกจากคนปกตินำมาเปลี่ยนถ่ายทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย ซึ่งอาจใช้ร่วมกับการให้รังสี ทั้งนี้ เพื่อ
– ทำลายภูมิต้านทานของผู้ป่วย ไม่ให้ต้านไขกระดูกที่ได้รับการถ่ายจากคนอื่น
– ทำลายไขกระดูกเดิม เพื่อให้เกิดช่องว่างสำหรับการแทนที่ของไขกระดูกใหม่
– กำจัดเซลล์มะเร็งให้หมด
4. การรักษาแบบยีนบำบัด (gene therapy)
เป็นวิธีการรักษาจากกลไกการเกิดโรค ด้วยการนำยีนใหม่ใส่ในเซลล์ของผู้ป่วย เพื่อทำหน้าที่ทดแทนยีนที่เสียหาย และทำหน้าที่ใหม่ในกระบวนการต่างๆของเซลล์ในร่างกาย
ผลข้างเคียงจากการรักษา
1. อาการข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการเบื่ออาหาร และคลื่นไส้อาเจียน เนื่องยาเคมีบำบัดมีผลต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร รวมถึงผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เกิดอาการกลัว วิตกกังวล หากอาการเกิดขึ้นหลายวันอาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำ และสารอาหารไม่เพียงพอ
2. ปากอักเสบ เกิดแผลในช่องปาก ติดเชื้อ และมีเลือดออกง่าย ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะขาดสารอาหาร เนื่องจากความเจ็บปวดจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ซึ่งมักเกิดหลังได้รับยาประมาณ 1 สัปดาห์
3. การสร้างเม็ดเลือด และการทำงานของไขกระดูกถูกกด จนมีจำนวนเม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดงต่ำ ทำให้เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนไม่เพียง มีอาการซีด เหนื่อยง่าย มีจุดเลือด มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ภูมิต้านทานโรคต่ำ และติดเชื้อง่าย
4. ผมร่วง เนื่องจากเซลล์เส้นผม และขนมีความไวต่อยาเคมีบำบัด มักเกิดหลังได้รับยาเคมีบำบัด 2-3 สัปดาห์ เมื่อหยุดยาแล้วผมจะงอกขึ้นมาใหม่ภายใน 2-3 เดือน
5. ท้องเดิน ปวดท้อง จากการบีบตัวของลำไส้ เนื่องจากเซลล์เนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร และลำไส้ถูกทำลายจนเกิดการอักเสบ อาการนี้มักเกิดขึ้นภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด 2-3 ชั่วโมง
6. ท้องผูก ยาผลของยาที่มีต่อภาวะการดูดซึมน้ำในระบบทางเดินอาหาร
7. ผิวหนังแห้ง ดำ อันเป็นผลมาจากการระคายเคืองของหลอดเลือดดำ
8. มีไข้ หนาวสั่น อาจเกิดทันทีหรือภาย 6 ชั่วโมง หลังการให้ยา และหายไปภายใน 24 ชั่วโมง
ผลข้างเคียงต่อระบบต่างๆในระยะยาว
1.ผลต่อระบบประสาท ได้แก่ สมองมีการพัฒนาช้า และด้อยความสามารถในการเรียนรู้
2. ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ได้แก่ เด็กเจริญเติบโตช้า กระดูกไม่สมส่วน เป็นต้น
3. ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไร้ท่อผลิตฮอร์โมนได้น้อยหรือมีความผิดปกติ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้าหรืออาจเป็นหมัน
4. ผลต่อระบบหายใจ ได้แก่ ภาวะปอดอักเสบ
5. ผลต่อระบบไหลเวียนเลือด ได้แก่ หัวใจเต้นผิดปกติ เยื่อบุหัวใจอักเสบ และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
6. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำให้การดูดซึมอาหารน้อยกว่าปกติ รวมถึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด เป็นต้น
7. ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การทำงานของไตผิดปกติ เป็นต้น
8. ผลต่ออวัยวะอื่นๆ ได้แก่ การสูญเสียการได้ยิน และการมองเห็น หรืออาจเกิดต้อกระจก