มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank
ธพว. ยึดบทบาทสถาบันการเงินเพื่อเอสเอ็มอีไทย ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นเดิม อย่างน้อยถึงสิ้นเดือน ก.พ.62 ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนดำเนินธุรกิจ ผ่านมติ ครม. ไฟเขียวมาตรการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน วงเงิน 30,000 ลบ. ดอกเบี้ยต่ำเริ่ม 0.25% ต่อเดือน อุ้มธุรกิจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมถึง เห็นชอบ ธพว. ออกหุ้นกู้ ก.คลัง ค้ำประกัน 21,000 ลบ.
.
.
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เปิดเผยว่า จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่จะทำให้สถาบันการเงินต่างๆ มีภาระต้นทุนการเงินสูงขึ้น แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มอบหมายให้ ธพว. ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจต่ำที่สุด ดังนั้น ธพว.ตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร MLR (Minimum Loan Rate) ไว้เท่าเดิมที่ 6.875% ต่อปี อย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากนั้นจึงจะพิจารณาทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งต่อไป
.
.
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ธันวาคม 2561 พิจารณาเห็นชอบมาตรการด้านการเงินของ ธพว. โดยให้ขยายระยะเวลา สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ไปถึง 18 ธันวาคม 2562 ซึ่งสินเชื่อดังกล่าว จะถูกนำมาใช้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน ลงทุนซื้อเครื่องจักร ขยายปรับปรุงกิจการ ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยถูก สำหรับบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ยเพียง 0.42% ต่อเดือน วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท และหากยกระดับเข้าสู่การเป็นนิติบุคคล จัดทำบัญชีเดียว จะมีอัตราดอกเบี้ยถูกลงไปอีก เหลือเพียง 0.25% ต่อเดือนเท่านั้น วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยมีการยื่นกู้แล้ว 11,000 ราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 9,000 ราย วงเงิน 14,100 ล้านบาท
.
.
นอกจากนั้น ครม. มีมติเห็นชอบให้ ธพว. ออกหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันรวมไม่เกิน 21,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี เพื่อรองรับโครงการดังกล่าว และนำไปใช้ในการให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอีรายย่อยภายใต้โครงการต่างๆ ของ ธพว. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กระทรวงการคลัง ค้ำประกันให้ ธพว. นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2507
.
.
นายมงคล กล่าวด้วยว่า ธพว.สร้างกระบวนการให้เข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายและสะดวกที่สุด ผ่านแพลตฟอร์ม ‘SME D Bank’ แอปพลิเคชันที่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ภายใต้รหัส 24×7 หมายถึง ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น เมื่อยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ จากนั้นภายใน 3 วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนฯ เข้าไปพบ เพื่อขอดูข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริง สามารถรู้ผลการพิจารณาสินเชื่อได้ใน 7 วัน ขณะเดียวกัน พนักงานของธนาคาร ทำงานภายใต้รหัส 8-8-7 หมายถึง 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม (8:00-20:00 น.) ตลอด 7 วัน อีกทั้ง ได้เปิด “ศูนย์บริหารรถม้าเติมทุน” (Operation Center) ที่ชั้น 11 สำนักงานใหญ่ SME Development Bank ทำหน้าที่ติดตามการทำงานของหน่วยรถม้าเติมทุนฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมายที่วางไว้
.
.
“ด้วยสินเชื่อที่ธนาคารได้คงอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้เช่นเดิม ประกอบกับการวางกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายที่สามารถใช้สินเชื่อได้อย่างครอบคลุม ทั้งกลุ่มบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล รวมถึง มีช่องทางเข้าถึงสินเชื่อที่สะดวกรวดเร็วทุกที ทุกเวลา ผ่านแพลตฟอร์ม SME D Bank เชื่อว่า จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ต่ำ สามารถดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย” นายมงคล กล่าว