ฟันสบ สาเหตุ อาการ
การสบฟัน หมายถึง ลักษณะของฟันแท้ที่มีการจัดเรียงผิดปกติอาจเกิดการซ้อนทับกัน ฟันยื่นไปข้างหน้า ฟันยื่นเข้าลึก ฟันห่างกัน เป็นต้น ทำให้เกิดลักษณะการจัดเรียงตัวของฟันไม่สวยงาม ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะฟันน้ำนม และระยะฟันผสมระยะแรก
ฟันน้ำนม หมายถึง ระยะที่เกิดฟันน้ำนมครบทุกซี่จนถึงระยะการเกิดฟันกรามแท้ซี่ใดซี่หนึ่ง เด็กโดยทั่วไปจะมีฟันน้ำนมขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และจะขึ้นครบเมื่อายุประมาณ 2-2ปีครึ่ง ฟันน้ำนมที่ขึ้นก่อนได้แก่ ฟันหน้าตัดกลาง ฟันหน้าตัดข้าง ฟันกรามฟันเขี้ยว ตามลำดับ โดยฟันล่างจะขึ้นก่อนฟันบน
ฟันผสมระยะแรก หมายถึง ระยะที่เกิดฟันกรามแท้ซี่ที่1จนถึงฟันระยะที่ฟันหน้าแท้ล่าง และบนขึ้นครบ ซึ่งจะอยู่ประมาณอายุ 7-9 ปี
สาเหตุ
1. การสูญเสียฟันน้ำนมก่อนกำหนดจะมีผลต่อการพูด และการทำงานของของกล้ามเนื้อโครงฟัน ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อแนวการขึ้นของฟันแท้จนเกิดลักษณะของฟันที่ผิดรูปไป
2. พฤติกรรมของเด็กในระยะฟันน้ำนม และฟันผสมระยะแรกบางรายชอบดูดนิ้ว การหายใจทางปาก การใช้ลิ้นดันฟัน การจับ และโยกฟัน เป็นต้น รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุกับฟัน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มีผลต่อความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรล่าง และบน การสูญเสียฟันน้ำนมก่อนกำหนด และการจัดรูปของฟันแท้ที่ขึ้นใหม่
3. พันธุกรรม ลักษณะของการจัดเรียงฟันรวมไปถึงรูปร่างของฟันอาจขึ้นกับลักษณะพันธุกรรมที่สืบถอดมาจากบิดา มารดาที่มีลักษณะการขึ้นของฟันแท้ที่ผิดปกติ
สาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดลักษณะฟันสบที่พบมากจะเกิดจากพฤติกรรมของเด็กใน ระยะฟันน้ำนม และระยะฟันผสมระยะแรกจนส่งผลต่อการเรียงตัวของฟัน และการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรรวมถึงลักษณะโครงสร้างของใบหน้า พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ ได้แก่ การดูดนิ้ว การกัดริมฝีปาก การใช้ลิ้นดันฟัน และการหายใจทางปาก
พฤติกรรมอีกประการที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการสบของ ฟันนั่นคือการใช้หัวนมปลอมในขวดดูดนมสำหรับเด็ก ซึ่งหัวนมปลอมที่ใช้มักมีลักษณะแข็ง ไม่ยืดหยุ่นจึงส่งผลต่อการหลุดของฟันน้ำนม และการจัดเรียงตัวของฟันแท้ได้ง่าย
ประเภทของฟันสบ
1. ฟันหน้าสบไขว้หรือฟันกัดคล่อม เป็นลักษณะของฟันหน้าด้านบนเกิดการสบไขว้ และยื่นไปข้างหน้า ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุที่สัมพันธ์กับความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรบน และล่าง จนทำให้เกิดแนวฟันที่ผิดปกติ ผลที่ตามมาจะทำให้เกิดการเจริญเติบโตของขากรรไกรผิดปกติ กระดูกเบ้าฟันเบ้าลึก มีการสึกของฟันบริเวณฟันใกล้ริมฝีปาก โดยเฉพาะฟันตัด รวมถึงอาจทำให้เกิดโรคปริทันต์หรือฟันอักเสบจากแรงสบฟันขณะเคี้ยวอาหารหรือการเคลื่อนไหวในปาก
2. ฟันหลังสบไขว้หรือฟันกัดเบี้ยว เป็นลักษณะของฟันหลังที่มีการสบไขว้ร่วมกับขากรรไกร โดยพบเกิดมากบริเวณฟันเขี้ยว ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ การดูดนิ้ว การดูดหัวนมปลอม การสบสะดุด เป็นต้น จนทำให้เกิดการเอียงเบนของขากรรไกรล่างไปด้านหน้าหรือด้านข้าง การเบนเอียงของขากรรไกรล่างไปด้านข้างมีผลทำให้เส้นกึ่งกลางของฟันเบนเอียงไปด้วย กระดูกขากรรไกรรอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สมดุล และคางเอียงไปด้านของฟันสบ จนมีผลทำให้ใบหน้ามีรูปร่างไม่สมดุล
3. ฟันสบลึก เป็นลักษณะของแนวฟันหน้ายื่นเข้าด้านใน เกิดได้บ่อยในระยะฟันน้ำนมเนื่องจากแนวฟันน้ำนมที่มีลักษณะตั้งตรงจะค่อยๆลดลงเมื่อฟันกรามแท้งอกขึ้น ผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหามากจะมีผลต่อการทำงานของกระดูกขากรรไกร และกล้ามเนื้อ มีอาการเกิดการสบกันของฟันหน้าล่างกับเนื้อเยื่อเพดาน
4. ฟันหน้าเปิด เป็นลักษณะของฟันหน้าทั้งด้านบน และด้านล่างไม่ประกบชิดกันจนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันบน และฟันล่าง ซึ่งเกิดจากการเจริญผิดปกติของขากรรไกรจากการดูดนิ้ว ดูดหัวนมปลอม และสาเหตุอื่น มีผลต่อการกัด และการบดเคี้ยวอาหาร
5. ฟันซ้อนเก เป็นลักษณะของฟันที่เกิดการซ้อนทับกันอันเกิดจากสาเหตุความผิดปกติระหว่างขนาดของฟัน และส่วนโค้งของแนวฟัน ความไม่สัมพันธ์ของนาดฟันบน และฟันล่าง การสูญเสียช่องว่างจากฟันน้ำนมผุ ฟันน้ำนมหลุดก่อนกำหนด รวมถึงการใช้วัสดุทันตกรรมที่ไม่สมบูรณ์ ลักษณะฟันสบนี้หากไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสเกิดโรคปริทันต์ได้ง่าย รวมถึงเกิดความลำบาก และยากต่อการจัดฟันด้วย
6. ฟันห่างหรือฟันมีช่องว่าง เป็นลักษณะของฟันที่เกิดมีช่องว่างระหว่างฟันมาก มักพบในฟันตัดบน โดยมีสาเหตุมาจากการพัฒนาที่ผิดปกติในระยะฟันผสมระยะแรก
7. ฟันยื่น เป็นลักษณะของฟันบนที่ยื่นออกมาด้านหน้า มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อบดเคี้ยว และริมฝีปากบนสั้น หากไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุต่อฟันหน้าบนได้ง่ายเนื่องจากมีลักษณะยื่นออกมามาก นอกจากนั้น ยังมีปัญหาต่อความสวยความงามของฟัน และใบหน้าด้านข้าง