พนม ควรสถาพร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชียกรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน)
บมจ.เอเชียกรีน เอนเนอจี (AGE) เดินหน้าต่อจิ๊กซอว์โมเดลธุรกิจ ดึง โลจิสติกส์ ด้านการขนส่งทางน้ำและทางบก รวมทั้งการให้บริการท่าเรือ และคลังสินค้าเสริมความแข็งแกร่ง คาดทำรายได้ให้บริษัทถึง 900 ล้านบาทในปี 2562 จากเป้ารายได้รวม 9,000 ล้านบาท ด้านผู้บริหาร ” พนม ควรสถาพร ” ระบุภาพรวมอุตสาหกรรมปี 62 ความต้องการใช้ถ่านหินภาคอุตสาหกรรมคึกคัก มั่นใจยอดขายถ่านหินทั้งปีแตะ 4 ล้านตัน
.
นายพนม ควรสถาพร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชียกรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) หรือ AGE ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายถ่านหิน บิทูมินัส (ถ่านหินสะอาด) เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ในปี 2562 ไว้ที่ระดับ 9,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯได้มีการกำหนดแผนการดำเนินธุรกิจเชิงรุก เพื่อเป็นการขยายช่องทางการตลาด ให้มีความหลากหลาย และครอบคลุม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทฯตั้งเป้าสัดส่วนยอดขายในตลาดต่างประเทศไว้ที่ 25% และในประเทศที่ 65% โดยตั้งเป้าปริมาณการขายถ่านหินทั้งปีที่ระดับ 4 ล้านตัน และตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ 10%
.
นอกจากนี้ บริษัทฯได้มีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนไปยังในธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ขนส่งทางน้ำและทางบก รวมทั้งการให้บริการท่าเรือ และคลังสินค้ามากขึ้น โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ระดับ 900 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณร้อยละ 10 ของรายได้รวม จากกองเรือลำเลียงที่จะ เพิ่มขึ้นเป็น 24 ลำ จากปีก่อนที่มีกองเรือ จำนวน 12 ลำ ซึ่งสามารถรองรับความต้องการใช้บริการขนส่งทางน้ำ ของกลุ่มผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชียกรีน เอนเนอจี (AGE) ยังได้กล่าวอีกว่า บริษัทฯได้มีแผนปรับปรุงพื้นที่ เพื่อพัฒนาท่าเรือเพิ่มเติม เป็นท่าที่ 3 จากเดิมที่มีท่าเรือในการให้บริการอยู่แล้ว จำนวน 2 ท่า ในบริเวณคลังสินค้า อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 นี้ ถือเป็นการเพิ่มความสามารถในการขนถ่ายสินค้าหน้าท่าให้เพิ่มขึ้น
.
“ในปี 2562 นอกจากธุรกิจถ่านหินแล้ว ยังเป็นปีที่ บริษัทฯมีแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้ จากธุรกิจด้านโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการต่อยอดรายได้ และลดการพึ่งพิงธุรกิจหลัก อย่างถ่านหินเพียงอย่างเดียว โดยการต่อยอดธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ขนส่งทางน้ำและทางบก รวมทั้งการให้บริการท่าเรือ และคลังสินค้า ที่จะมีทั้งจำนวนกองเรือ ที่เพิ่มเข้ามาอีก 12 ลำที่จะส่งมอบในช่วงไตรมาส 1/2562 ทำให้บริษัทฯมีเรือลำเลียงทั้งหมดเป็น 24 ลำ และมีท่าเรือเพิ่มอีก 1 ท่า ถือเป็นการ เพิ่มศักยภาพทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น และคาดว่าสัดส่วนรายได้จากการให้บริการท่าเรือคลังถ่านหิน และโลจิสติกส์ ขยับเป็น 10% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 5%ขณะที่รายได้ หลักจากธุรกิจถ่านหิน ในประเทศจะอยู่ที่ 65% และรายได้จากการขายถ่านหินในต่างประเทศในอยู่ที่ 25%” นายพนม กล่าว
.
สำหรับภาพ ภาพรวมอุตสาหกรรมการใช้ถ่านหินในประเทศ มองว่า ความต้องการใช้ถ่านหิน ยังคง ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ของกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตกระดาษ รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นต้น โดยจะเห็นได้จาก ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2561 ประเทศไทย มีการนำเข้าถ่านหินประมาณ 21.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน
.
ในขณะที่ความต้องการใช้ถ่านหินประเทศเวียดนาม เพิ่มสูงขึ้นตาม การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ที่โตเฉลี่ยปีละ 7% ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ มีการเพิ่มกำลังการผลิต และใช้ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องไปกับ แผนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน จาก 37% ในปี 2559 เป็น 53% ในปี 2573 และทำให้คาดการณ์ว่า ในปี 2573 ประเทศเวียดนามจะมีการ นำเข้าถ่านหินสูงถึง 100 ล้านตันต่อปี