ปวดฟันทำไงดี หมอไม่ยอมถอนฟันผุให้ ปัญหาเกิดจากอะไร วิธีการรักษา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่


การถอนฟันผุออก ช่วยให้อาการบาดเจ็บลดลงไปได้แบบทันทีทันใด แต่การถอนฟันในซี่ที่ยังมีอาการปวด บวม ติดเชื้อรุนแรง หรือมีหนองร่วมด้วยนั้น การฉีดยาชาลงไปบริเวณที่มีการอักเสบก่อนถอนฟัน อาจจะทำให้ยาชาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ พอยาชาไม่ทำงาน ก็ไม่ต่างอะไรกับการถอนฟันสดๆ นี่แหละ ความเจ็บไม่ต้องพูดถึง แค่นึกก็เสียวฟันตามไปด้วยแล้ว

แนวทางการรักษา คุณหมอจึงมักจะแนะนำให้คนไข้ทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวดไปก่อน พออาการปวดฟันลดลงแล้วจึงค่อยกลับมาถอนอีกที ยาชาจะได้ทำงานได้เต็มที่ เก็บแรงไว้เจ็บหลังถอนทีเดียวนั่นเอง

บทความโดย Luxury Society Asia

ดังนั้นคนที่เป็นฟันผุ แล้วหมอไม่ยอมรีบถอนฟันให้แต่เนิ่นๆ ก็อยากให้เข้าใจแนวทางการรักษาแบบนี้กันด้วยนะ คนที่มารพ.ด้วยอาการปวดฟัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่มีฟันผุค่อนข้างมาก และอาจผุทะลุไปยังโพรงประสาทฟัน ซึ่งในฟันเราก็มีเส้นประสาทอยู่ในนั้น เมื่อฟันผุเป็นรูแบคทีเรียก็สามารถเล็ดลอดเข้าไปในช่องนั้นได้ พอแบคทีเรียไปโดนเส้นประสาทฟัน หรือตอนกินข้าวกินน้ำแล้วไปโดน เราจึงปวดฟันจากสาเหตุนี้แหละ

การรักษาสำหรับคนที่ฟันผุไม่มาก หมอก็อาจทำการอุดฟันก็เพียงพอแล้ว ใช่ว่าเอะอะจับถอนฟันทุกซี่ที่ไหนกัน ฟันซี่ไหนที่ยังใช้งานได้ก็เก็บไว้อย่างนั้นแหละ เพราะฟันเราเมื่อเอาออกไปแล้วไม่สามารถงอกมาใหม่ได้เหมือนหางจิ้งจกนะ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่มีหมอคนไหนอยากถอนฟันเราพร่ำเพรื่อหรอก

ส่วนกรณีเคสที่ฟันผุมากๆ ดังกล่าว หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดการลุกลามของเชื้อจากตัวฟันไปยังกระดูกขากรรไกร และลามไปยันบริเวณใบหน้าและลำคอได้ ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดมากขึ้น หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ทำให้การรักษายิ่งยากมากขึ้นตามไปอีก

ดังนั้น ถ้าเรามีอาการปวดฟันที่รบกวนชีวิตประจำวันเมื่อไหร่ ก็แนะนำให้รีบมาพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดฟันแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เสี่ยงมาตอนเป็นหนักแล้ว ทั้งรักษายาก ค่าใช้จ่ายแพง แถมเจ็บตัวนานอีกด้วย

สำหรับเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับฟัน(น้ำนม)

ปัญหาฟันน้ำนมผุเกิดจากอะไร ?

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมผุ มาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว การปล่อยให้เด็กนอนหลับคาขวดนม ทำให้น้ำตาลที่อยู่ในนม สามารถเข้าไปทำลายเคลือบฟันของเด็กได้ เพราะคราบจุลินทรีย์จะย่อยน้ำตาลในนมที่ค้างอยู่บนผิวฟัน ทำให้เกิดการสะสมของกรด ละลายผิวฟันเป็นรู นอกจากเรื่องขวดนมแล้ว ปัญหาฟันน้ำนมผุ ยังอาจเกิดได้จากโครงสร้างของฟันเด็กที่ไม่สมบูรณ์ อาจเป็นเพราะคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย แม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กยุคนี้ฟันผุง่ายก็คือ การรับประทานขนมตามใจชอบ แล้วไม่ยอมแปรงฟันนั่นเอง  อีกทั้งผู้ปกครองหลายคนมักมีความเชื่อผิดๆ ว่า เดี๋ยวฟันน้ำนมก็ต้องหลุดไป มีฟันแท้มาแทนที่ จึงไม่ได้ใส่ใจการรับประทานขนมและการแปรงฟันของลูกมากนัก และลูกก็ยังไม่สามารถทำความสะอาดฟันอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้ฟันผุได้ง่ายนั่นเอง

บทความโดย Luxury Society Asia

ฟันน้ำนมผุได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

ปัญหาฟันน้ำนมผุหรือฟันผุในวัยเด็ก สามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กมีฟันขึ้นในช่องปาก ซึ่งก็คืออายุประมาณ 6 เดือน  เนื่องจากชั้นเคลือบฟันน้ำนมหนาประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้เท่านั้น ทำให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่ามาก และยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นองค์ประกอบน้อยกว่าอีก โดยฟันน้ำนมซี่หน้าบนจะผุได้ง่ายกว่าฟันหน้าล่าง รวมทั้งอีกจุดที่ผุง่ายก็คือ ฟันกรามด้านบดเคี้ยว เพราะเป็นซี่ใน ขนมหวานมักติดค้างอยู่ในร่องฟัน จึงทำความสะอาดได้ยากนั่นเอง

ระยะของโรคฟันผุฟันผุในระยะแรก จะพบลักษณะรอยโรคขุ่นขาวบริเวณเคลือบฟันหรือหลุมร่องฟัน ซึ่งจะยังไม่แสดงอาการ

ฟันผุที่ชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน จะมีการแตกหักของเนื้อฟันจนเกิดรอยผุเป็นรูบนตัวฟัน เด็กจะเริ่มมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน เวลาเศษอาหารติด

ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะมีอาการปวดฟัน ประสาทฟันอักเสบร่วมกับการอักเสบของเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟัน

การรักษาฟันน้ำนมผุ

หากลูกมีฟันผุระยะแรกเริ่ม คุณหมอจะให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารและการทำความสะอาดหรือเคลือบหลุมร่องฟัน คุณหมอจะทำการอุดฟันหรือครอบฟันในฟันที่ผุถึงชั้นเนื้อฟัน แต่หากฟันผุทะลุเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน คุณหมอจะต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน หรือถอนฟันแทน แต่สำหรับกรณีที่ฟันผุยังไม่ได้ทำลายรากฟัน และกระดูกเบ้าฟันไปมาก คุณหมอจะแนะนำให้เก็บรักษาฟันน้ำนมไว้ใช้งาน รอจนฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่ การอุดฟันที่ผุลึกมาก การถอนฟัน หรือการรักษารากฟัน คุณหมอจะใช้ยาชา เพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกเจ็บปวดจนทนไม่ไหว

บทความโดย Luxury Society Asia

 วิธีป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมผุ

– ฝึกให้เด็กทารกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม
– สอนให้เด็กใช้แก้วน้ำแทนขวดนมและฝึกดูดจากหลอด ตั้งแต่อายุ 6 – 12 เดือน และควรเลิกใช้ขวดนม เมื่ออายุ 1 ปี ไปแล้ว
– ฝึกนิสัยไม่ให้ลูกทานขนมจุบจิบ อาหารรสหวาน เพราะเป็นสาเหตุของฟันผุ หากลูกอยากรับประทานให้รับประทานในมื้ออาหาร
– เลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ไม่เติมน้ำตาลและไม่ทำให้ฟันผุ เช่น นมจืด ผลไม้ แซนวิสทูน่า ปลาเส้น เป็นต้น
– ให้ลูกบ้วนปากหลังดื่มนม รับประทานขนม หรือหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
– แปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เวลาเช้า – ก่อนนอน
– เมื่อลูกอายุ 4 ขวบ ฝึกให้ลูกแปรงฟันอย่างถูกวิธี และช่วยแปรงซ้ำเป็นประจำ
– พาลูกไปพบทันตแพทย์ ตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อจะได้รับความรู้และแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกต้อง

ขอขอบคุณ

อ.ทพญ. วรณันประพันธ์ศิลป์ ภาควิชาทันตกรรมเด็ก  Mahidol

และ โรงพยาบาลรามคำแหง

บทความโดย Luxury Society Asia


Similar Posts