ประโยชน์ของนมแม่ น้ำนมเหลือง เด็กควรกินถึงอายุเท่าไร การให้นมลูกดียังไง
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นพื้นฐานสำคัญของพัฒนาการของเด็ก ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ความสำคัญเป็นเรื่องของคุณค่าในน้ำนมแม่ที่เหมาะกับร่างกายของเด็ก เพราะร่างกายของเด็กยังมีระบบภูมิคุ้มกัน และโครงสร้างของร่างกายไม่แข็งแรง พร้อมๆ กับอยู่ในระยะที่สมองมีการเจริญเติบโตสูงสุด และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงเป็นสิ่งที่ธรรมชาติจัดไว้เพื่อให้เด็กได้มีมารดาต้องอยู่เลี้ยงเด็กอย่างใกล้ชิด และมีโอกาสให้อาหารที่ดี และปลอดภัยต่อการเจริญเติบโตระยะนี้
น้ำนมแม่ เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ใช่เป็นเพียงการให้อาหารแก่ลูกเท่านั้น หากแต่เป็นวิถีของการเลี้ยงดูลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ระยะเวลาที่เหมาะสมของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว
ในปี ค.ศ. 1979 องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่า ควรเลี้ยงทารกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นระยะ 4-6 เดือน แต่ระยะต่อมา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหารทารกได้เสนอความเห็นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรให้เป็น 6 เดือน ภายใต้คำว่า Exclusive Breastfeeding “about 6 months” และในการประชุม World Health Assembly-WHA ครั้งที่ 54 ของเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2001 องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนคำแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว เป็น 6 เดือน ซึ่งในประเทศไทยเริ่มมีนโยบายส่งเสริมเมื่อ พ.ศ. 2546
ชนิดของน้ำนมแม่ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
1. น้ำนมเหลืองหรือหัวน้ำนม (Colostrum)
น้ำนมเหลืองมีสีเหลืองข้น เริ่มสร้างตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จนถึง 3-4 วันแรกหลังคลอด จะให้พลังงานประมาณ 58-67 แคลอรี่/100 มิลลิลิตร มีสีเหลือง เนื่องจากปริมาณ Carotene มากกว่านมระยะหลังถึง 10 เท่า ในหัวน้ำนมจะมีโปรตีน เกลือแร่ และวิตามินที่ละลายในไขมันปริมาณที่สูง แต่มีปริมาณไขมัน และน้ำตาลต่ำ จึงทำให้ย่อยง่าย หัวน้ำนมยังช่วยให้แบคทีเรียในลำไส้ของเด็กทำงานได้เป็นปกติ และช่วยขับขี้เทา (Meconium) ออกได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันโรค (Immunoglobulin) ได้แก่ IgA เป็นภูมิคุ้มกันโรคที่สำคัญ
2. น้ำนมระยะปรับเปลี่ยนหรือน้ำนมก่อนน้ำนมแท้ (Transitional Milk)
เป็นน้ำนมที่หลั่งออกมาต่อจากหัวน้ำนมจนถึง 2 สัปดาห์ หลังคลอด เป็นระยะที่อยู่ระหว่างเริ่มเปลี่ยนจาก หัวน้ำนมไปเป็นน้ำนมแท้ ระยะนี้ปริมาณของน้ำตาลแลคโทส ไขมัน วิตามินที่ละลายในไขมัน และพลังงานสูงกว่าหัวน้ำนม
3. น้ำนมแท้ (Mature Milk)
น้ำนมแท้ เป็นน้ำนมที่สร้างออกมาเป็นระยะสุดท้าย ลักษณะจะดูคล้ายกับนมที่สกัดเอาไขมันออก (Skim Milk) น้ำนมแท้มีลักษณะสีขาวนวล และไม่เข้มข้นเหมือน หัวน้ำนม และจะให้พลังงานประมาณ 20 กิโลแคลอรี่/ออนซ์ ประกอบด้วยน้ำประมาณร้อยละ 90 ที่เหลือเป็นคาร์โบไฮเดรท โปรตีน และไขมัน ประมาณร้อยละ 10 ซึ่งเหมาะสม และเพียงพอกับความ ต้องการของเด็ก และสามารถป้องกันการขาดน้ำ
น้ำนมแท้ยังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ น้ำนมส่วนหน้า (Fore Milk) เป็นน้ำนมที่หลั่งออกมา ก่อนในขณะที่เด็กดูดนมในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำ โปรตีน และวิตามิน น้ำนมอีก ส่วนหนึ่ง เรียกว่า น้ำนมส่วนหลัง (Hind Milk) เป็นน้ำนมที่หลั่งออกมาในขณะที่เกิดเลทดาวน์ รีเฟลกซ์ น้ำนมในส่วนนี้มีปริมาณไขมันที่สูงกว่าน้ำนมส่วนหน้าถึง 4 เท่า ซึ่งจะทำให้เด็กมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
ประโยชน์การเลี้ยงด้วยนมแม่ต่อลูก
1. สารอาหารครบถ้วนพอเหมาะแก่ความต้องการของทารก มีสารอาหารที่ครบถ้วน น้ำนมมารดาที่คลอดก่อนกำหนดมีความเหมาะสมต่อสรีรวิทยาของทารกเกิดก่อนกำหนด โดยทารกที่ดูดนมมารดาอย่างเดียวจากมารดาที่มีความสมบรูณ์จะต้องเจริญเติบโตเป็นที่น่าพอใจจนถึงอายุ 4-6 เดือน ดังนั้น น้ำนมมารดาจึงถูกกำหนดให้เป็นสารอาหาร และพลังงานที่ควรได้รับประจำวันสำหรับทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน
2. การติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารที่เป็นภูมิคุ้มกันให้แก่ทารกจึงลดการติดเชื้อทั้งในทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ ทำให้ทารกมีภูมิต้านทาน นมแม่มีโปรตีนที่ทารกเกิดก่อนกำหนดต้อง ร่วมกับแล็กโทส และoligosaccharides ในนมแม่ที่ทารกคลอดก่อนกำหนดดูดซึมได้ดี และช่วยจับกับแบคทีเรีย และช่วยป้องกันแบคทีเรียเกาะติดกับเยื่อบุลำไส้ ดังนั้น ทารกเกิดก่อนกำหนดที่ได้นมแม่ พบอุบัติการณ์การติดเชื้อน้อยกว่าทารก ที่ได้รับนมผสม และช่วยลดการติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อในระบบหายใจ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะเน่าตายของลำไส้จากการขาดเลือด และยังช่วยลดการติดเชื้อในระบบปัสสาวะอีกด้วย
3. โรคเรื้อรัง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลดีระยะยาวในการป้องกันโรคต่างๆ เช่น
– โรคเบาหวาน โดยระยะเวลาที่ให้นมแม่สั้นเกินไปหรือเสริมนมผสมเร็วเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเล็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลินมากยิ่งขึ้น
– โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง น้ำนมแม่ช่วยป้องกันการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุลำไส้ เช่น Ulcerative Colitis และ Crohn’s Disease ซึ่งเกิดจากการแพ้นมวัวเป็นส่วนใหญ่ การให้นมแม่อย่างเดียวในระยะ 4-6 เดือนแรก ซึ่งเป็นระยะที่เยื่อบุลำไส้ยังเลือกดูดซึมโปรตีนเฉพาะโมเลกุลเล็กไม่ได้ นมแม่จึงช่วยปกป้องเยื่อบุลำไส้ ช่วยป้องกันการติดเชื้อ และลดโอกาสการดูดซึมโปรตีนที่มีโมเลกุลใหญ่ซึ่งทำให้เกิดภาวะแพ้ได้ง่าย
4. โรคติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยนมแม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากสาเหตุของ Notavirus, Enterobacteria นอกจากนั้น เด็กที่กินนมแม่มีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อในระบบต่าง ๆ น้อยกว่าเด็กที่กินนมผสมหลายการศึกษา เช่น
– โรคท้องเสีย ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรง การให้อาหารอื่นในภาชนะ เป็นโอกาสนำเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่เด็ก
5. การเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่จะลดการเกิดโรคภูมิแพ้ เพราะในน้ำนมมารดา จะไม่มีสารเบต้าแลคโตโกลบูลิน, เคซีน, แอลฟ่าแลคโตโกลบูลิน, โบวีนซีรั่มโกลบูลิน และแอลบูมิน ดังนั้น ทารกที่เลี้ยงด้วยน้ำนมมารดาจึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเกิดโรคภูมิแพ้ แสดงให้เห็นว่า โอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ในทารกที่ได้รับน้ำนมมารดาเป็นไปในทิศทางที่น้อยกว่าที่ได้รับนมผสม ในนมแม่ไม่มีสารกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ทารกที่กินนมแม่จะไม่เกิดภูมิแพ้ เช่น ผื่นผิวหนัง โรคหอบหืด โรคแพ้นมวัว โรคแพ้อากาศ
6. ลดอัตราการเกิดโรคอ้วนหรือการได้รับน้ำนมมากเกินไป เพราะน้ำนมมารดามีปริมาณที่เพียงพอสำหรับให้ทารกดุดจนอิ่ม ต่างจากการให้น้ำนมขวดเพราะทารก จะดูดจนหมดขวดตามที่ชงมาให้ จึงทำให้เกิดปัญหาในการให้น้ำนมแก่ทารกมากเกินความจำเป็น
7. การให้ทารกดูดน้ำนมมารดาต้องให้ทารกดูดให้ลึกถึงลานนม ซึ่งเป็นการใช้กำลังของขากรรไกรมากกว่าการดูดด้วยหัวนมยาง มีผลให้ทารกมีการพัฒนาขากรรไกรที่แข็งแรง เพราะในขณะที่ดูดนม หัวนมจะยื่นไปอยู่ที่อุ้งลิ้นของทารก และถูกดันขึ้นไปแนบกับเพดาน หากอมให้ลึกพอหัวนมจะกระตุ้นรอยต่อเพดานแข็ง และเพดานอ่อนซึ่งเป็นบริเวณที่ทำให้ Sucking reflex ตอบสนองได้แรงที่สุด ลิ้นทารกที่อยู่ลานหัวนมจะรีดให้นมไหลเข้าปาก
8. ส่งเสริมการมองเห็น นมแม่มี taurin , carnitine, linositol และ nucleotides ซึ่งไม่พบในนมวัว taurin ช่วยพัฒนา โครงสร้างการมองเห็น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นปัจจัยสัมพันธ์กับการมองเห็น และในนมแม่มีไขมัน โมเลกุลไตรกลีเซอไรด์ และมี lipase ทารกดูดซึมได้ดีกว่าในนมวัว และในนมแม่ยังมี DHA ช่วยในการพัฒนาของจอตา ซึ่งมีผลในการมองเห็น ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่ได้รับนมแม่ จะมีอุบัติการณ์และความรุนแรงของการเกิดพยาธิสภาพที่จอตาต่ำกว่าทารกคลอดก่อนกำหนดที่ได้รับนมผสม
9. ช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการของสมอง และสติปัญญา ในขณะที่ทารกดูดนมแม่จะได้รับการกระตุ้นจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้สมองเกิดการสร้าง และเชื่อมต่อเส้นใยประสาท สื่อสารข้อมูลได้เร็วเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสมองของทารก ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญา และช่วยในการเจริญเติบโต และพัฒนาการของสมอง
ทารกที่ดูดนมมารดาจะมีพัฒนาการและเชาว์ปัญญาที่ดีกว่าทารกที่ได้รับนมผสม ผลการศึกษาของการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดา กับพัฒนาการและ I.Q. พบว่า ทารกที่ดูดนมมารดาโดยเฉลี่ยมีระดับพัฒนาการทางสมองดีกว่าทารกที่ได้รับนมผสม 3.2 จุด และในทารกที่คลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักตัวน้อยจะมีระดับที่ดีกว่าถึงประมาณ 5จุด และจากการศึกษาพบว่าทารกน้ำหนัก แรกเกิดน้อยที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่8 เดือนขึ้นไป มีระดับเชาว์ปัญญาด้านการพูด สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับนมแม่ 10.2 และมีคะแนนเชาว์ปัญญาด้านพฤติกรรม เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.2 จุด
10. มีผลดีต่อจิตใจ เป็นรากฐานให้เด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา และอุปสรรค การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้แม่มีความใกล้ชิดสัมพันธ์กับลูก เกิดความรักความผูกพัน ทำให้ทารกมีความอบอุ่นทั้งร่างกาย และจิตใจ
ประโยชน์การเลี้ยงด้วยนมแม่ต่อมารดา
1. การให้เด็กดูดนมแม่เป็นการส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างมารดา-เด็ก ให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นขณะให้นมมีผลให้เด็กเกิดความมั่นคง และอบอุ่น
2. การให้บุตรดูดน้ำนมมารดายังมีฮอร์โมน oxytocin อยู่อย่างต่อเนื่องช่วยให้โอกาสการตกเลือดหลังคลอดลดลง โดยเฉพาะ 2-3 วัน หลังคลอดซึ่งในมารดาที่ไม่ได้ให้น้ำนมมารดาจะไม่มีขบวนการสร้างฮอร์โมนนี้ต่อเนื่องจึงเสี่ยงต่อการเสียเลือดได้มากกว่า
3. ช่วยคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ (laction amenorrhea method) ในระยะ 6 เดือนแรก ถ้ามารดาให้น้ำนมแม่อย่างเดียวแก่บุตร โดยไม่มีอาหารอื่น จะทำให้ประสิทธิภาพในการคุ้มกำเนิดสูงได้ถึงประมาณร้อยละ 98 นอกจากนี้ ยังทำให้ประจำเดือนมาช้า มีผลให้มารดาลดโอกาสเกิดปัญหาขาดธาตุเหล็กจากการเสียเลือดจากประจำเดือนได้ และเป็นการช่วยคุมกำเนิดทางอ้อม จากการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน ออกมายับยั้งการตกไข่จะทำให้ไม่มีประจำเดือนประมาณ 8-12 เดือน
4. น้ำหนักมารดาลดลงสู่ปกติได้เร็ว เนื่องจาก มารดาต้องใช้พลังงานโดดยหากหลังคลอดมารดาจะมีน้ำหนักเกินจากก่อนท้อง 5-6 กก. ถ้าให้บุตรดูดนมมารดาน้ำหนักจะค่อยๆลดลงประมาณ 0.6-0.8 กก./เดือน และมีการลดลงของน้ำหนักได้มากในระยะ 6 เดือนแรก โดยการให้น้ำนมบุตรจนบุตรอายุถึง 1 ปี มารดาจะมีน้ำหนักใกล้เคียงกับเมื่อก่อนตั้งครรภ์และถ้าจะเกินประมาณเพียง 1-1 ½ กก. ช่วยให้แม่ลดน้ำหนักตัวได้เร็วขึ้น
5. ช่วยทำให้ภาวะเบาหวานในระยะตั้งครรภ์ดีขึ้น (gestation diabetes) โดยมารดาที่เป็นเบาหวานในระยะตั้งครรภ์ที่ยังคงให้นมมารดาจะมีระดับน้ำตาลต่ำกว่ามารดาที่ไม่ได้ให้นมมารดา จากผลดีของน้ำหนักที่ลดลงได้ดีกว่า น่าจะช่วยให้มารดากลุ่มนี้มีโอกาสพัฒนาเป็นเบาหวาน ในระยะต่อมาน้อยกว่า
6. โอกาสการเป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) จะต่ำสุดในกลุ่มสตรีที่คลอดเด็ก และให้นมแม่ ถึงแม้ว่ากระดูกจะบางลงบ้างเล็กน้อยขณะตั้งครรภ์ และให้นมแม่ แต่เป็นเพียงชั่วคราวระยะสั้นๆ ภายหลังคลอด และให้นมแม่ไประยะหนึ่ง ความหนาแน่นของกระดูกจะกลับสู่ปกติ และอาจจะหนาแน่นมากกว่าเดิมด้วย การให้นมแม่กระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม และภายหลังหยุดให้ นมแม่ จะพบว่า ระดับพาราธัยรอยด์ฮอร์โมน และวิตามินดีในกระแสเลือดสูงขึ้น
7. ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ พบว่า ระยะเวลาที่ให้นมแม่นานขึ้นและมารดาที่ให้นมแม่มีอายุน้อย จะมีส่วนทำให้เป็นมะเร็ง เต้านมในวัยที่ยังมีประจำเดือนลดลงได้มากขึ้น
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากการที่มดลูกได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ทั้งจากภายใน และภายนอกร่างกายในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะยับยั้งการทำงานของรังไข่ ทำให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง มีผลทำให้โอกาสเกิดมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกลดลงได้
ปัจจัยที่มีผลทำให้มะเร็งรังไข่ชนิดอีปิธิเลียล (Epithelial Ovarian Cancer) ในสตรีลดลง ได้แก่ การมีเด็กหลายคน การกินยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งการให้นมแม่เป็นระยะเวลานานด้วย นอกจากนี้ยัง พบว่า โอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดนี้สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ เพราะการตั้งครรภ์สามารถยับยั้งการทำงานของรังไข่ได้ดีกว่าการให้นมแม่