ท้องเสียเกิดจากอะไร โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน วิธีป้องกันและการดูแลรักษา


โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)

      อุจจาระร่วงเป็นกลุ่มอาการที่มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปาราสิต เช่น Rotavirus, Escherichia coli, Giardia lamblia, Campylobacter jejuni ฯลฯ สาเหตุการป่วยมาจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 24 ชั่วโมง หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด อาจมีอาการไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงส่วนใหญ่จะหายเองได้ รายที่มีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิต มักเกิดจากการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่จำนวนมาก โดยไม่ได้รับสารน้ำทดแทนที่ทันท่วงที

การรักษา

1. ในระยะเริ่มแรกที่มีอาการอุจจาระร่วง ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ หรืออาหารเหลวที่เตรียมได้เองในบ้านเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น น้ำข้าว (ใส่เกลือ 2 หยิบมือ) น้ำแกงจืด น้ำผลไม้ โจ๊ก หรือข้าวต้ม และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ทุกครั้งที่ถ่ายเหลว โดยให้ในสัดส่วนที่ถูกต้อง ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ดื่ม 50-100 ซีซี (1/4-1/2 แก้ว) เด็กอายุ 2-10 ปี ดื่ม 100-200 ซีซี (1/2-1 แก้ว) อายุ 10 ปีขึ้นไปให้ดื่มได้มากกว่า 1 แก้ว หรืออาจเตรียมสารละลายเกลือแร่ได้เอง โดยการผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา กับน้ำต้มสุกเย็น 750 ซีซี (1 ขวดน้ำปลากลม)

2. สำหรับเด็กที่ยังกินนมแม่ ให้กินต่อไปโดยไม่ต้องหยุด ส่วนเด็กที่กินนมผสม ให้ผสมตามปกติแล้ว ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สลับกันไป

3. ไม่ต้องงดอาหารในระหว่างท้องร่วง ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มผสมผัก ปลา เนื้อสัตว์ต้มเปื่อย

4. การรักษาดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ยังคงถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก อาเจียนบ่อย กระหายน้ำมาก ตาลึกโหล กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ มีไข้ ถ่ายเป็นมูกมีเลือดปน ให้นำผู้ป่วยไปตรวจรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านต่อไป

5. ไม่จำเป็นต้องกินยาหยุดถ่าย เพราะภาวะอุจจารร่วงส่วนใหญ่จะหายได้เองและการถ่ายอุจจาระเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับของเสีย สารพิษ และเชื้อโรคออกจากร่างกาย การกินยาหยุดถ่ายไม่ได้ทำให้ร่างกายลดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ภายในลำไส้ และยังอาจรบกวนประสิทธิผลของยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อลำไส้อักเสบ

6. การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ และควรใช้เฉพาะในรายที่เป็นบิด ถ่ายเป็นมูกหรือมีเลือดปน และในรายที่เป็นอุจจาระร่วงอย่างแรง หรือมีอาการอื่นแทรกซ้อน การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาหรือดื้อยาได้

บทความโดย Luxury Society Asia

การป้องกัน

1. ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหาร หรือก่อนเตรียมนมให้เด็ก และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ หรือห้องส้วมทุกครั้ง

2. ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก

3. รับประทานอาหารที่สะอาดและสุกใหม่ ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม

4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ค้างมื้อ เพราะจะทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ง่าย หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง

5. ผักสดหรือผลไม้ ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำประปา หรือน้ำผสมคลอรีนครึ่งช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร

6. กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ขยะที่เปียกแฉะควรใส่ถุงพลาสติกผูกให้แน่นแล้วทิ้งในถังรองรับ แล้วกำจัดโดยการฝังหรือเผา เพื่อป้องกันมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน

7. ถ่ายอุจจาระลงในส้วม หรือในสถานที่ที่อุจจาระไม่สามารถลงไปปะปนในแหล่งน้ำได้

8. สำหรับผู้ประกอบอาหารและพนักงานเสริฟอาหาร ควรหมั่นล้างมือก่อนจับต้องอาหารทุกครั้ง และดูแลรักษาความสะอาดภาชนะในครัว และอุปกรณ์เครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ตลอดจนกำจัดขยะมูลฝอยและเศษอาหารทุกวัน หากมีอาการอุจจาระร่วง ควรหยุดปฏิบัติงานจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ

บทความโดย Luxury Society Asia


Similar Posts