ดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบัน GIT – งานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 63
เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่วนภูมิภาค ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญของ GIT ได้ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการ โดยมีเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 15 จังหวัดทั่วประเทศ โดยปัจจุบันได้ดำเนินโครงการแล้วใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน สุโขทัย แพร่ สุรินทร์ เพชรบุรี ตราด และสตูล ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ร่วมกันค้นหาอัตลักษณ์อันโดดเด่นของแต่ละจังหวัด มาปรับใช้ในการออกแบบเครื่องประดับให้มีความสวยงาม ร่วมสมัย และสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และในปีนี้สถาบันยังได้ลงพื้นที่ต่อเนื่องในการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นในจังหวัด เชียงใหม่ ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช โดยมุ่งพัฒนาและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้เติบโตอย่างเข้มแข็งตั้งแต่ระดับฐานราก และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
งานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 63 คือหนึ่งในแผนการเพิ่มช่องทางทางการตลาดให้ผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสนำสินค้ามาจัดจำหน่ายออกสู่เวทีสากล ครั้งนี้ GIT ผลักดันผู้ประกอบการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาคจังหวัดต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมและแสดงผลงาน ณ บริเวณ คูหา โครงการผู้ประกอบการหน้าใหม่ New Faces จำนวน 12 ราย จาก 6 จังหวัด ได้แก่จังหวัดสุรินทร์ ตราด สตูล แพร่ เชียงใหม่ และสุโขทัย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายตลาดสินค้าไทยจากชุมชนสู่ตลาดโลกอีกด้วย โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานครั้งนี้พอใจกับยอดขายและยอดสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้น และพร้อมใจเข้าร่วมงานในครั้งหน้าต่อไป
นายรุ่งเรือง เจ้าของแบรนด์รุ่งเรืองเครื่องประดับ ทองเหลืองลายโบราณ (สุรินทร์) เปิดเผยว่า การได้มีโอกาสเข้าร่วมงานครั้งนี้กับ GIT ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี และเป็นช่องทางในการนำเสนอสินค้าท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตนจากจังหวัดสุรินทร์ โดยทางร้านจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้จากเดือนมกราคม โดยเพิ่มขึ้นมากถึง 200% และยังได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกดีใจมากเพราะเกินจากที่คาดการณ์เอาไว้ โดยลูกค้าที่สนใจสินค้ามีทั้งชาวไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ ทางร้านยังได้รับออเดอร์สั่งซื้อจากลูกต่างชาติอีกด้วย จึงขอขอบคุณ GIT ที่จัดโครงการดีๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในภูมิภาค ให้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ
และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งกับร้านหยกมณี จังหวัดตราด ได้รับรางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น ระดับจังหวัด (Provincial Star OTOP:PSO) ประจำปี พ.ศ.2562 ประเภทเครื่องประดับ โดยเครื่องประดับชุด กฤษณานาวี ได้ผ่านการร้อยเรียง และสร้างแรงบันดาลใจ จากการลงพื้นที่จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ของ GIT กับผู้ประกอบการชาวตราด ปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมีคุณเอ็ม-สุรศักดิ์ มณีเสถียรรัตนา ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Carletta Jewellery ซึ่งดีไซเนอร์รายนี้เน้นการฝึกคิดนอกกรอบแล้วให้ดึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีมาออกแบบผ่านเครื่องประดับชุดนี้
ในปี 2562 GIT ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ และได้เปิดตัว ความร่วมมือการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ Zilingo.com แพลตฟอร์ม E-Commerce ชั้นนำ จากประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ตอบโจทย์ในยุคดิจิทัล กับการค้าออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น