ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) ยกระดับขีดความสามารถงานบริการ ทดสอบ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยา วัสดุทางการแพทย์/เครื่องมือแพทย์ ได้รับการรับรองรับรองมาตรฐานงานเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ (AAALAC International หรือ The Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care International) นับเป็นหน่วยงานแรกในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นหน่วยงานลำดับที่ 9 ของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว ย้ำ วว. พร้อมนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ฯแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร พร้อมเป็น “หุ้นส่วนความสำเร็จผู้ประกอบการไทย” เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันได้ในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ
.

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ในแต่ละปี ศนส. มีงานโครงการด้านสัตว์ทดลองทั้งการทดสอบประสิทธิภาพและการประเมินความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 100 การทดลองต่อปี มีทั้งงานวิจัยและงานบริการทดสอบจากภาครัฐและเอกชน มีปริมาณสัตว์ทดลองที่นำเข้ามาเลี้ยงดูแลในอาคารแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัว/ปี โดยที่ตัวอย่างที่ส่งมาทดสอบจะเป็นทั้งสารสกัดจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ขณะนี้ ศนส. ได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานด้านการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพิ่มความมั่นใจในผลการทดลองที่มีการดำเนินการต่อสัตว์ว่ามีความน่าเชื่อถือ โดยยื่นขอรับรองมาตรฐาน AAALAC International ของอาคารเภสัชวิทยาและพิษวิทยา (อาคารสัตว์ทดลอง) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 และคณะผู้ตรวจประเมินจาก AAALAC International ได้มาตรวจเยี่ยมอาคารฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 โดยคณะผู้ตรวจเยี่ยมสรุปว่า ไม่พบข้อบกพร่องที่สำคัญที่ขัดกับมาตรฐานงานเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองขององค์กร รวมทั้งได้ให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนางานเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองของอาคารฯ ซึ่งคณะทำงานได้ดำเนินการต่างๆ ตามข้อเสนอแนะ ภายในเวลาที่กำหนด
.

“…ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหาร AAALAC International ได้มีมติเห็นชอบให้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการรับรองจาก AAALAC International ในระดับ Full Accreditation เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของหน่วยงานใหม่ที่ยื่นขอการรับรอง และนับเป็นหน่วยงานแรกในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเป็นหน่วยงานลำดับที่ 9 ของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้…ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติม
.

นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ศนส. พร้อมให้บริการวิเคราะห์ทดสอบดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการในด้านทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เสริมอาหาร ยา วัสดุทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะหลีกเลี่ยงการทดสอบในสัตว์ทดลอง แต่ วว. ได้พัฒนาวิธีทดสอบทางเลือกโดยใช้เซลล์ เช่น การทดสอบการแพ้และการระคายเคืองของผลิตภัณฑ์ต่อผิวหนัง ซึ่งผลการวิเคราะห์ทดสอบจาก วว. นั้น ผู้ประกอบการสามารถนำผลการวิเคราะห์ทดสอบ ไปประกอบการยื่นขอจดทะเบียนจดทะเบียนกับ อ.ย. ได้ เนื่องจาก วว. เป็นหน่วยงานที่ อ.ย. ให้การยอมรับ ในด้านการวิเคราะห์ทดสอบดังกล่าว
.

นอกจากนี้ ศนส.กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการยกระดับห้องปฏิบัติการให้ได้รับมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และ OECD GLP คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ ปี 2562 นับเป็นการเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานการทดสอบที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการขึ้นทะเบียน ทั้งนี้หากประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยที่ได้รับการรับรองตามหลัก OECD GLP นั้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและลดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศ ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ฯแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เสริมสร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการ แข่งขันได้ในตลาดในประเทศและต่างประเทศ
.

อนึ่ง AAALAC International (The Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care International) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรที่สนับสนุนการปฏิบัติต่อสัตว์ทดลองเพื่อใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างมีจริยธรรมและให้การรับรองมาตรฐานแก่องค์กร สถาบันหรือสถานศึกษาต่างๆ ที่ตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างมาตรฐานงานเลี้ยงและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาบุคลากรอย่างมีแบบแผนและต่อเนื่อง ในการใช้สัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย การสอนหรือการทดลองต่างๆ ซึ่งการได้รับการประกันคุณภาพเป็นตัวชี้วัดว่า องค์กรนั้นมีการดูแลและใช้สัตว์ทดลองอย่างถูกต้อง ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วโลก อีกทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นได้ว่า ผลงานค้นคว้าทดลองต่างๆ ขององค์กรนั้นมีความถูกต้อง มีคุณภาพและเชื่อถือได้


Similar Posts