ณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.)


สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แจงได้พัฒนาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พร้อมปรับปีฐานการคำนวณ MPI และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น เผย MPI เดือนมกราคม 2562 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.18 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ MPI ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติด ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ปรับปรุงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2562 ให้ครอบคลุมสำมะโนอุตสาหกรรมจากเดิมร้อยละ 61.50 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.20 โดยได้เพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยจาก 65 กลุ่ม (231 ผลิตภัณฑ์) เป็น 68 กลุ่ม (255 ผลิตภัณฑ์) พร้อมเปลี่ยนปีฐานการคำนวณจากปี 2554 มาเป็นปี 2559 เพื่อให้มีความครอบคลุมและสะท้อนกับโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันมากขึ้น
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนแรกปี 2562 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.18 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัว โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI เดือนมกราคม 2562 ได้แก่ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ น้ำตาล น้ำมันปิโตรเลียม และยา

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคมมีการขยายตัว ได้แก่
รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.69 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพ 1 ตัน รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์ขนาดเล็ก ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยเป็นผลจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ผลิต
เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.94 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กและประหยัดพลังงาน โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตลาดในประเทศขยายตัวถึงร้อยละ 23.81 และส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.98 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตลาดในประเทศอิรัก เวียดนาม และอินโดนีเซีย
น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุจากโรงงานทุกแห่งต้องเร่งผลิตให้ทันกับปริมาณอ้อยที่เข้าหีบ
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.59 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันเครื่องบิน แก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเบนซิน 95 ที่เกิดการใช้งานเพิ่มขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัว
ยา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ประเภทยาเม็ด ยาน้ำ ยาแคปซูล และยาครีม เนื่องจากมีการเร่งผลิตเพื่อรักษาระดับสต๊อกของผู้ผลิต ได้แก่ ยาธาตุน้ำขาว ยาแก้ไอ ยาลดไข้สำหรับเด็ก เป็นต้น


Similar Posts