ความาหมายของพรหมวิหาร 4 ประการ และแนวทางปฏิบัติ


พรหมวิหาร 4 ประการ คือ ธรรมครองใจ 4 ประการ ที่ทำให้บุคคลในสังคมพึงประพฤติปฏิบัติในทางอันประเสริญทั้งต่อตน และผู้อื่น ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ คือ
1. เมตตา หมายถึง ความประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข
2. กรุณา หมายถึง ความประสงค์ที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
3. มุทิตา หมายถึง ความยินดีสรรเสริญในความสุขที่ผู้อื่นได้รับ
4. อุเบกขา หมายถึง ความวางใจเป็นกลางต่อความสุข และความทุกข์ที่มีต่อตน และผู้อื่นได้รับ

อรรถาธิบายเพื่มเติม พรหมวิหาร 4
1. เมตตา
เมตตา แห่งพรหมวิหาร 4 เป็นความปรารถนาหรือความประสงค์อันเกิดขึ้นในจิตที่จะยังให้ผู้อื่นมีความสุข ภายใต้จิตอันบริสุทธิ์ อันจักนำไปสู่การเกิดความกรุณาต่อไป

ประเภทของเมตตาแห่งพรหมวิหาร 4
1. เมตตาแท้ คือ ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุขอย่างแท้จริง อันประกอบขึ้นจากใจที่บริสุทธิ์ไม่แอบแฝงด้วยเพียงหวังประโยชน์แก่ตน
2. เมตตาเทียม คือ การแสร้งทำด้วยความปรารถนาหรือความประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข อันประกอบขึ้นจากใจที่มุ่งหวังหวังประโยชน์แก่ตน

การฝึกตนให้เกิดความเมตตา
1. การตั้งมั่นในจิต คือ การกำหนดจิตของตนที่จะมีความเมตตาต่อสรรพสิ่งทั้งหลายผ่านการทำสมาธิ และการภาวนาอย่างเป็นนิจ
2. การแผ่เมตตา คือ การภาวนาในจิตพร้อมการสวดด้วยวาจาในการแผ่เมตตาให้แก่สรรพสิ่งทั้งหลาย

การแสดงออกในความเมตตา
– ระลึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น และยังจิตให้มีกุศลอยู่เสมอ
– ไม่เบียดเบียน รังแก หรือ เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
– มีความรัก และความปรารถนาดีที่จะเห็นผู้อื่นมีความสุข
– ให้ความเป็นมิตรต่อคนรอบข้าง

พหรมวิหาร4

2. กรุณา
กรุณา แห่งพรหมวิหาร 4 เป็นความปรารถนาที่จะช่วยหรือสงเคราะห์ให้ผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ บนพื้นฐานจิตใจอันบริสุทธิ์ จนนำไปสู่การใช้ปัญญาเพื่อที่จะหาแนวทาง และการประพฤติต่อการสงเคราะห์นั้นให้สำเร็จ ซึ่งจะยังให้ตนเกิดมุทิตา คือ ความอิ่มเอิบ และยินดีต่อความสุข และการพ้นจากทุกข์ของผู้นั้น

ความทุกข์ 2 ประการ
– ทุกข์ทางกาย คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทำให้ต้องทนกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย การรู้สึกร้อนหนาว เป็นต้น
– ทุกข์ทางใจ คือ ความขุ่นข้องหมองใจอันเกิดจากความผิดหวังหรือไม่ต้องตามประสงค์ในสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ

ประเภทของกรุณา
1. กรุณาแท้ คือ การสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ด้วยความปรารถนาที่แท้จริง อันประกอบขึ้นจากใจที่บริสุทธิ์ไม่ได้เพียงสงเคราะห์ผู้อื่นเพราะหวังให้เขาหลงเชื่อหรือยังซึ่งประโยชน์แก่ตน
2. กรุณาเทียม คือ การแสร้งทำสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ด้วยความที่ตนมุ่งหวังให้เขาหลงเชื่อหรือเพียงเพื่อหวังในประโยชน์จากผู้อื่นหรือเพื่อเพิ่มความทุกข์ให้ผู้อื่น

การแสดงออกในความกรุณา
– ให้ความช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผู้อื่นตามกำลังทรัพย์ของตน เช่น การบริจาคทรัพย์ให้แก่ขอทาน
– การช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ ได้แก่ การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
– การส่งเสริมความดีของผู้อื่นให้เจริญยิ่งขึ้น เช่น การช่วยส่งเสียเด็กกำพร้าให้เล่าเรียนหนังสือ
– การยังตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น การทำความสะอาดวัดวาอารามในวันว่าง

บุคคลที่พึงระวังในการแสดงความกรุณา
– บุคคลที่เกลียดกันหรือเป็นศัตรูกัน เพราะจะทำให้เกิดความขุ่นเคือง ความอิจฉา และเพิ่มความบาดหมาง
– บุคคลที่รักมาก เพราะหากเกิดความทุกเพียงเล็กน้อยย่อมจะทำให้ตนทุกข์ตามไปด้วย
– บุคคลที่ไม่ยินดีในเรา เพราะความกรุณาสูญเปล่าหรือควรให้กรุณาแก่ผู้อื่นที่ยินดีในตนจะยังกุศลมากกว่า
– บุคคลที่มีความใคร่ต่อเรา เพราะจะเพิ่มความใคร่นั้นให้เพิ่มขึ้น

พรหมวิหารสี่

3. มุทิตา
มุทิตา แห่งพรหมวิหาร 4 เป็นความอิ่มเอิบ และยินดีในใจที่ได้เห็นผู้อื่นมีความสุข และการพ้นจากทุกข์ อันจะนำไปสู่การส่งเสริม และสนับความสุขหรือความดีนั้นๆให้คงอยู่ และเจริญยิ่งๆขึ้นไป อันเป็นการกำจัดกิเลสทางใจที่ยังให้เกิดแก่อุเบกขาต่อไป

ประเภทของมุทิตา
1. มุทิตาแท้ คือ การทำใจยินดี และแสดงออกถึงความยินดีต่อความสุข และการพ้นจากทุกข์ของผู้อื่นด้วยจิตอันบริสุทธิ์ มิใช่แกล้งทำเพื่อหวังให้ผู้อื่นหลงเชื่อหรือหวังประโยชน์จากเขา
2. มุทิตาเทียม คือ การแสร้งทำใจยินดีหรือแกล้งแสดงออกถึงความยินดีต่อความสุข และการพ้นจากทุกข์ของผู้อื่น เพียงเพื่อหวังให้ผู้อื่นหลงเชื่อหรือจะได้รับประโยชน์จากเขา

การแสดงออกในมุทิตา
– แสดงความยินดีต่อผู้อื่นด้วยจิตอันบริสุทธิ์ เมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข
– ยกย่อง สรรเสริญในความดี และความสุขที่ผู้อื่นได้รับ
– แนะนำหรือเสนอแนะแนวทางต่อการยังประโยชน์ของผู้อื่นให้เจริญยิ่งขึ้นไป
– อนุโมทนาในกุศลกรรมที่ผู้อื่นได้กระทำ

4. อุเบกขา
อุเบกขา แห่งพรหมวิหาร 4 เป็นความสงบของจิตใจด้วยการวางใจเป็นกลางต่อความสุขหรือความทุกข์ที่ตนหรือผู้อื่นได้รับ ที่ประกอบขึ้นด้วยจิตที่ปราศจากความเศร้าหมองหรือความอิจฉาริษยาต่อสิ่งนั้นๆ

ประเภทของอุเบกขา
1. อุเบกขาแท้ คือ การวางใจเป็นกลางต่อความสุขหรือความทุกข์ด้วยจิตอันที่ตนตั้งมั่นโดยแท้ มิใช่เพียงแสร้งทำเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
2. อุเบกขาเทียม คือ การแสร้งทำในการวางใจเป็นกลางต่อความสุขหรือความทุกข์ เพียงเพื่อหลอกให้ผู้อื่นหลงเชื่อในตน

การแสดงออกในอุเบกขา
– ทำใจจิตเป็นกลาง ไม่มีความอิจฉาริษยาต่อความสุขที่ผู้อื่นได้รับ
– มีความเป็นธรรม และความเสมอภาคต่อผู้อื่น
– จิตใจสงบ ไม่โต้ตอบต่อสิ่งเราด้วยกายหรือวาจา
– ให้ความเคารพต่อต่อความคิด และการแสดงออกของผู้อื่น
– ยอมรับในผลแห่งการกระทำที่ยังให้เกิดขึ้นด้วยตนหรือผู้อื่น


Similar Posts