ความหมายของคำว่า สมาธิ ระดับของฌาน การฝึกวิปัสสนาต่างจากการทำสมาธิอย่างไร


สมาธิ แปลตามบาลีว่า ความตั้งใจมั่น สมาธิในความหมายของพจนานุกรม แปลว่า ที่ตั้งมั่นแห่งจิต การทำสมาธิในทางพุทธศาสนาเรียกว่าสมถะ

ระดับของสมาธิในพุทธศาสนา

  1. ขณิกสมาธิ สมาธิค่อยๆ เล็กน้อย ที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่นใช้อ่านหนังสือ หรือขับรถ
  2. อุปจารสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่มากกว่าขณิกสมาธิ แต่แน่วแน่น้อยกว่าอัปปนาสมาธิ
  3. อัปปนาสมาธิ สมาธิที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงสมาธิระดับฌานสมาบัติ ปฐมฌาณขึ้นไป

ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงสัมมาสมาธิไว้หลายแห่ง โดยได้อธิบายความหมาย ตลอดจนลักษณะของสัมมาสมาธิไว้ หลายแห่งดังนี้

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้า ถึงปฐมฌานมีวิตกวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอเข้าถึงทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอเข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

แสดงว่าสัมมาสมาธิ จะมีความสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน จนกระทั่งถึงจตุตถฌานแล้ว จะมีสภาวะที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ และเป็นอุเบกขา จนมีสติบริสุทธิ์ นอกจากนี้ ในปปัญจสูทนียังกล่าวถึงลักษณะของสัมมาสมาธิไว้ดังนี้

ลักษณะของสัมมาสมาธิคือการที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน

สัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นแห่งจิตโดยชอบเป็นลักษณะ

ส่วนในพระอภิธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงลักษณะของจิตที่เป็นสัมมาสมาธิว่า

สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน ?
ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น

จาก ลักษณะของสัมมาสมาธิที่กล่าวนี้ ในพระไตรปิฎกยังแสดงให้เห็นว่า สัมมาสมาธิมีคุณูปการแก่ผู้ฝึกหรือผู้ปฏิบัติ โดยเมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่านและมีความตั้งมั่นแห่งจิตแล้ว ย่อมขจัดมิจฉาสมาธิ ตลอดจนกิเลสได้ ดังความในพราหมณสูตร กล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกตอนหนึ่งว่า “สัมมาสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด” แสดงว่า สัมมาสมาธิสามารถขจัดมิจฉาสมาธิ ตลอดจนกิเลสและความฟุ้งซ่าน สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าสู่เป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพานได้ ดังความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กล่าวไว้ดังนี้

สัมมา สมาธิ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาสมาธิ กิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสมาธิและความฟุ้งซ่านนั้นได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมตั้งมั่นสัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้โดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สัมมาสมาธิ 

สรุปได้ว่า การจะฝึกสมาธินั้น บุคคลจะต้องยึดหลักการฝึกแบบสัมมาสมาธิ กล่าวคือ ฝึกเพื่อการทำให้ใจสงบ ระงับจากกาม ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลาย และไม่ฟุ้งซ่าน จนกระทั่งจิตตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย ก็จะสามารถทำให้การฝึกและปฏิบัติของบุคคลนั้น ถูกต้อง ตรงต่อพระพุทธธรรมคำสอน จนสามารถบรรลุถึงเป้าหมาย คือพระนิพพานได้ ทั้งนี้ การที่จะจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน จิตจะต้องไม่คิดหรือตรึกในสิ่งที่จะทำให้จิตเกิดราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงลักษณะของจิตฟุ้งซ่านว่า จะมีลักษณะที่ซัดส่ายไปข้างนอก คือซัดส่ายไปในอารมณ์ คือกามคุณ ทำให้มีความพอใจในกามคุณ 5 อย่าง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งทำให้จิตระคนปนเจือไปด้วยความตรึกไปในกาม

ฌาน (บาลี) หรือ ธยาน (สันสกฤต) หมายถึง การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก

ฌานแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

  1. อารัมมณูปนิชฌาน การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4
  2. ลักขณูปนิชฌาน การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค ผล
    1. วิปัสสนา ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะพินิจสังขารโดยไตรลักษณ์
    2. มรรค ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะยังกิจแห่งวิปัสสนานั้นให้สำเร็จ
    3. ผล ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะเพ่งนิพพาน อันมีลักษณะเป็น สุญญตะ อนิมิตตะ และอัปปณิหิตะ อย่างหนึ่ง และเพราะเห็นลักษณะอันเป็นสัจจภาวะของนิพพาน อย่างหนึ่ง

ฌานมี 2 ประเภท

เมื่อกล่าวถึงประเภทของฌาน มักแบ่งฌานออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. รูปฌาน 4 ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ ฌานที่เป็นรูปาวจร ได้แก่
  1. ปฐมฌาน ( ฌานที่ 1 ) ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
  2. ทุติยฌาน ( ฌานที่ 2 ) ประกอบด้วย ปิติ สุข เอกัคคตา
  3. ตติยฌาน ( ฌานที่ 3 ) ประกอบด้วย สุข เอกัคคตา
  4. จตุตถฌาน ( ฌานที่ 4) ประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา
  1. อรูปฌาน 4 ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ฌานที่เป็นอรูปาวจร ได้แก่
  1. อากาสานัญจายตนะ
  2. วิญญาณัญจายตนะ
  3. อากิญจัญญายตนะ
  4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (อัปปนาสมาธิ)

เมื่อกล่าวสั้นๆ ว่า ” ฌาน 4″ จะหมายถึง รูปฌาน 4 และเมื่อกล่าวสั้นๆ ว่า “ฌาน 8” จะหมายถึง รูปฌาน 4 กับ อรูปฌาน 4 ปฐมฌานเหมาะแก่การทำวิปัสสนา เพราะมีวิตก วิจาร อยู่

สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งจนได้ฌาน ได้มีการรวบรวมไว้เป็น กรรมฐาน 40 สิ่งที่ขวางกั้นจิต ไม่ให้เกิดฌาน คือ นิวรณ์ 5

ฌานสมาบัติ

สมาบัติ เป็นภาวะสงบประณีตซึ่งพึ่งเข้าถึง มีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ เป็นต้น สมาบัติที่กล่าวถึงบ่อยคือ ฌานสมาบัติ กล่าวคือ สมาบัติ 8 อันได้แก่ ฌาน 8 (รูปฌาน 4 กับ อรูปฌาน 4)

ในบางกรณี รูปฌาน 4 อาจถูกจำแนกใหม่ในรูปแบบของ ปัญจมฌาน เป็นการจำแนกตามแบบพระอภิธรรม เรียกว่า ปัญจกนัย การจำแนกตามแบบพระสูตร เรียกว่า จตุกนัย ที่ต้องจำแนกเป็นปัญจมฌาน เนื่องจากฌานลาภี(ผู้ได้ฌาน)มี 2 ประเภท คือ ติกขบุคคล (ผู้รู้เร็ว) และ มันทบุคคล (ผู้รู้ช้า)

อนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 หมายถึง สมาบัติ 8 กับ นิโรธสมาบัติ

วิปัสสนา หมายถึง ความเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน

สมถะและวิปัสสนาถือเป็นธรรมที่ควรเจริญ (ตามทสุตตรสูตร) และเป็นธรรมฝ่ายวิชชา (ตามพาลวรรค)

วิปัสสนาภูมิ คือ ธรรมทั้งหลายอันแยกประเภทเป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ และปฏิจจสมุปบาท

วิปัสสนาภูมิ หมายถึง ธรรมอันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา

วิปัสสนาญาณ ดูบทความหลักที่ ญาณ

วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน หมายถึง การปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางในมหาสติปัฏฐานสูตร คือ การเจริญสติอันเป็นไปใน กาย เวทนา จิต และธรรม

วิปัสสนากรรมฐาน กับ สมถกรรมฐาน ในมหาสติปัฏฐานสูตร อิริยาปถบรรพะ สัมปชัญญบรรพะ ธาตุมนสิการบรรพะ เวทนาบรรพะ จิตตบรรพะ นีวรณบรรพะ ขันธบรรพะ อายตนบรรพะ โพชฌังคบรรพะ และสัจจะบรรพะ จัดเข้าในฝ่ายของวิปัสสนา , ส่วน อานาปานบรรพะ และปฏิกูลมนสิการบรรพะ จัดเข้าในฝ่ายของสมถะ เพราะสามารถทำให้บรรลุโลกียอัปปนาได้, ส่วน นวสีวถิกาบรรพะ จัดเข้าทั้งในฝ่ายสมถะและฝ่ายวิปัสสนา,

วิปัสสนากรรมฐาน แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ 1. มีฌานเป็นบาท และ 2.วิปัสสนานิยม มีฌานเป็นบาท หมายถึง ผู้เจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌานสมาบัติแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อไปเลย เช่น อานาปานสติ 16 ขั้น ที่เจริญจากสมถะต่อเนื่องไปจนถึงวิปัสสนาตามลำดับ ปฏิกูลมนสิการบรรพะและนวสีวถิกาบรรพะแม้สามารถบรรลุโลกียะอัปปนาได้ แต่ก็ได้เพียงแค่ปฐมฌาน ซึ่งจะไม่สามารถเข้าถึงเวทนานุปัสสนา มีปีติเกิดขึ้นก็รู้(อานาปานสติขั้นที่ 5)เพราะละวิตก วิจาร ก็ต้องบรรลุทุติยฌานขึ้นไป

ส่วนวิปัสสนานิยม หมายถึง ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน จนบรรลุโสฬสญาณ 16 ตามลำดับวิสุทธิ 7 วิปัสสนานิยม ไม่มีรูปแบบบันทึกไว้ชัดเจน แต่มีรูปแบบการปฏิบัติที่สืบทอดกันมา โดยจะเจริญวิปัสสนาในหมวดอิริยาปถบรรพะและสัมปชัญญบรรพะเป็นหลัก ด้วยการเดินจงกรมสลับกับนั่งสมาธิ ในเวลาที่ใกล้เคียงเพื่อรักษาสมดุลของวิริยะพละและสมาธิพละ มีคำบริกรรมสภาวะที่ปรากฏตามด้วยคำว่าวตหรือหนอ ในอิริยาบถนั่งจะกำหนด 3 อย่าง คือ 1.ธาตุมนสิการบรรพะ ดูท้องพองและท้องยุบ (เป็นวาโยปรมัตถรูป แก้สันตติปกปิดอนิจจัง) 2.อิริยาปถบรรพะ ดูรูปอิริยาบถนั่ง (เป็นวิการรูป แก้อิริยาบถปกปิดทุกขัง) 3.อายตนบรรพะ เพ่งความรู้สึกรับรู้ที่ผิวหนังเป็นจุดๆไป (เป็นโผฏฐัพพะรูป แก้ฆนสัญญาปกปิดอนัตตา) ทั้งสามอย่างนี้ท่านว่าเป็นสัมมสนรูป คือรูปที่สมควร เพราะมีลักษณะเสถียรภาพกว่า รูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ และโผฏฐัพพะส่วนใหญ่ที่เอาแน่นอนไม่ได้ เช่นจะกำหนดความร้อนเป็นอารมณ์ บางทีก็กลายเป็นเย็นไม่แน่นอน

ที่มา  ที่มา 

 


Similar Posts