ความหมายของคำว่า วิจารณญาณ ข้อดีของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
วิจารณญาณ (Judgment) หมายถึง ปัญญาหรือความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องตามเหตุผล อันได้มาจากกระบวนการคิด และพิจารณาด้วยความรู้ และประสบการณ์เดิมของตน
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ “ critical thinking” หมายถึง การรู้จักใช้ความคิดพิจารณาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผลในเนื้อหาหรือเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาหรือข้อขัดแย้ง โดยอาศัยความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของตน เพื่อนำไปสู่การตัดสินในการปฏิบัติด้วยความเหมาะสมอันสอดคล้องกับหลักการ และเหตุผล
การคิดอย่างมีเหตุผล และรอบคอบ ภายใต้พื้นฐานของหลักเกณฑ์ และมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ ย่อมนำไปสู่ข้อสรุป และการตัดสินใจในทิศทางที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
การคิดอย่างมีวิจารณญาณจำเป็นต้องประกอบด้วยทักษะต่างๆ คือ การตั้งคำถาม การคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การสรุปประเมิน และการหาแนวทางในการนำไปใช้ โดยใช้เหตุ และผล ประกอบการตัดสินใจ ไม่มีความลำเอียง หรือมีอคติต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยยึดหลักการบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริงมากกว่าอารมณ์ และพิจารณาแยกแยะความเป็นไปได้ในแง่มุมต่างๆ
ความรู้ และความคิดเป็นสิ่งคู่กันไปเสมอ เพราะการใช้ความคิดจำเป็นต้องนำความรู้ และประสบการณ์ต่างๆมาเป็นพื้นฐานประกอบในกระบวนการคิด ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อให้เกิดความคิดจึงไม่อาจทำได้ หากไม่มีเนื้อหาของความรู้แทรกอยู่ ทั้งการเรียนรู้ด้วยการอ่าน การฟัง และการดู เช่น การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ เป็นการอ่านที่ต้องใช้ความคิดขณะอ่านข้อความ โดยนำความรู้ และประสบการณ์ที่ตนมาคิดประเมินเนื้อเรื่องที่อ่านว่า ผู้เขียนมีความคิดอย่างไร เนื้อหามีความน่าเชื่อถือเพียงใด รวมถึงสามารถอธิบาย และขยายความในประโยคที่อ่านได้
องค์ประกอบการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
1. จุดหมาย
จุดมุ่งหมายของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือ คำตอบ หรือ ความรู้ใหม่ที่ได้จากการคิด รวมถึงแนวทางแก้ไขหรือประโยชน์ที่ตามมา
2. ประเด็นคำถาม
ประเด็นคำถาม คือ โจทย์ปัญหาที่ต้องการคำตอบ อันเกิดจากความสงสัย และการอยากรู้ ทั้งนี้การตั้งโจทย์ปัญหาจะต้องสั้น ได้ใจความ ไม่ยาวเกินไป และให้สัมพันธ์กับเนื้อหาหรือสถานการณ์ที่สงสัย
3. สารสนเทศ
สารสนเทศ คือ แหล่งของข้อมูล หรือหลักฐานที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ อาจเป็นหนังสือ ตำรา หรือ ข้อความบนเว็บไซต์ เป็นต้น ซึ่งควรเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และเชื่อถือได้
4. ข้อมูลเชิงประจักษ์
ข้อมูลเชิงประจักษ์ คือ ข้อมูลที่ได้กลั่นกรอง และแยกแยะจากข้อมูลต่างๆที่หามาได้ จนได้ข้อมูลที่สำคัญ และตรงประเด็นกับเรื่องหรือสิ่งที่เราต้องการหาคำตอบ
5. แนวคิดอย่างมีเหตุผล
แนวคิดอย่างมีเหตุผล คือ การเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างข้อมูลที่หามาได้ และองค์ความรู้เดิมกับข้อมูลหรือสถานการณ์ที่ต้องการคำตอบ เพื่อให้เข้าใจต่อข้อมูล และสถานการณ์นั้นอย่างแจ่มชัด หรือ ที่เรียกว่า คำตอบของโจทย์ ต้องอาศัยหลักการหรือทฤษฎีเข้าช่วยในการพิจารณาภายใต้พื้นฐานของเหตุ และผลที่ถูกต้อง
6. ข้อสรุป และประโยชน์
ข้อสรุป คือ คำตอบของโจทย์ปัญหาที่ชัดเจน และสำคัญที่สุด เป็นคำตอบที่ได้จากการกลั่นกรองด้วยการวิเคราะห์ตามหลักเหตุ และผล แล้วสรุปลงมาให้สั้น กะทัดรัด และเข้าใจง่าย นอกจากนั้น ควรพิจารณาคำตอบนั้นว่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไร จึงจะถือเป็นการคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ดี
ทักษะสำหรับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
1. การตั้งประเด็นปัญหา
การตั้งประเด็นปัญหา เป็นพื้นฐานขั้นแรกที่นำไปสู่ข้อสรุป คือ ต้องรู้จักสงสัย และตั้งโจทย์ขึ้นมาก่อน
2. การรวบรวมข้อมูล
การรวบรวมข้อมูล คือ การเสาะแสวงหาข้อมูลทั้งที่เป็นหนังสือ เอกสารตีพิมพ์ การสัมภาษณ์ เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณา
3. การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาใช้ประกอบพิจารณาในหลักการ และความเป็นไปได้ ด้วยการเปรียบเทียบข้อมูลกับเนื้อหาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
4. การสังเคราะห์
การสังเคราะห์ เป็นการแยกแยะผลของการวิเคราะห์ ว่าอะไรคือเหตุ และอะไรคือผล ส่วนใดน่าเชื่อถือ ส่วนใดควรตัดออก
5. การประเมินข้อมูล
การประเมินข้อมูล เป็นการตัดสินใจ และเลือกประเด็นที่ได้จากการสังเคราะห์ เพื่อให้เกิดความกระชับ และชัดเจน
ขั้นตอนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
1. การตั้งสมมติฐานหรือการตั้งคำถาม
เป็นการตั้งคำถามต่อข้อสงสัยของตน ซึ่งอาจเป็นประโยคบอกเล่า เช่น ปลาออกลูกเป็นตัว หรือ การตั้งเป็นประโยคคำถาม เช่น ปลาออกหรือเป็นตัวหรือไม่ คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร เป็นต้น การตั้งประเด็นคำถามนี้ เกิดได้ทั้งจากสถานการณ์ที่ที่เกิดขึ้น หรือ จากข้อมูลที่ได้อ่าน ได้ฟัง ซึ่งเป็นจุดเริ่มของกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
2. การรวบรวม และสืบหาข้อมูล
การรวบรวมข้อมูล เป็นการแสวงหาข้อมูลหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ผู้รวบรวมจะต้องคัดเลือกข้อมูลให้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตนค้นหาเป็นหลัก ข้อมูลเหล่านี้ ได้แก่
– หนังสือตำราเรียน
– หนังสืองานวิจัย
– การสัมภาษณ์บุคคล
– ข่าวสารจากโทรทัศน์ หรือวิทยุ
– สื่อออนไลน์ เช่น เนื้อหาในเว็บไซต์ วีดีโอบนเว็บไซต์ เป็นต้น
3. การจัดระเบียบหมวดหมู่ของข้อมูล
หลังจากที่ได้ข้อมูลหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกันแล้ว ข้อมูลเหล่านี้อาจมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องน้อย เกี่ยวข้องมาก เนื้อหามีความชัดเจน หรือ ไม่ชัดเจน ซึ่งจำเป็นต้องคัดเลือกข้อมูลที่สำคัญไว้ และจัดกลุ่มข้อมูลเป็นหมวดๆ เพื่อให้สามารถนำไปประกอบการพิจารณาได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง และรวดเร็ว โดยในขั้นนี้ จำเป็นต้องใช้ความรู้เดิมช่วยในการพิจารณา ซึ่งเป็นทั้งการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ร่วมกัน
4. การวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ และการทดสอบ
หลังจากที่ได้ข้อมูลเป็นหมวดหมู่หรือได้ข้อมูลที่สำคัญแล้ว จะเป็นการพิจารณา และวิเคราะห์สิ่งที่เราต้องการคำตอบด้วยการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ มาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ เพื่อให้รู้ข้อเท็จจริง ให้รู้ถึงเหตุ และผลของสิ่งที่เราค้นหา นอกจากนั้นแล้ว เพื่อความแน่ใจ และชัดเจน อาจต้องทำการทดสอบหรือลองปฏิบัติดู
5. การสังเคราะห์ข้อมูล
เมื่อทำการเปรียบเทียบข้อมูลในแต่ละส่วนที่สัมพันธ์กันแล้ว ก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า ประเด็นสัมพันธ์ หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกันอันถูกต้อง และชัดเจน ซึ่งอาจเกิดได้ในหลายๆประเด็นที่เป็นไปได้ ดังนั้น จึงต้องทำการสังเคราะห์เพิ่มเติมว่า ประเด็นใดมีความน่าเชื่อถือที่สุด ประเด็นใดมีความน่าเชื่อถือน้อย พร้อมเรียงลำดับให้ชัดเจน และคัดเลือกประเด็นที่สำคัญที่สุด
6. การสรุปผล
หลังจากที่ได้ประเด็นที่น่าเชื่อถือหรือสำคัญที่สุดแล้ว จึงนำประเด็นนั้น มาเป็นคำตอบของโจทย์ที่เราตั้งไว้ พร้อมกับอธิบายความสัมพันธ์อย่างมีเหตุ และผล
ลักษณะผู้มีความคิดอย่างมีวิจารณญาณ
1. มักเป็นคนขี้สงสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ
2. ชอบการสังเกต และจดบันทึก
3. มักมีการแสวงหาหลักฐานหรือข้อมูลอ้างอิง
4. ชอบการอ่านหรือการฟัง
5. มักเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่มีการโต้แย้งจนกว่าจะแน่ใจว่าผิด
6. มักเป็นคนไม่ด่วนตัดสิน ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจน
7. มักเป็นคนใจเย็น มีความสุขุม
8. มักคาดเดาหรือทำนายเหตุในอนาคตได้ดี
ข้อดีของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
– สามารถฟัง และอ่านเข้าใจในเนื้อหาได้ง่าย
– สามารถพูด หรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ดี
– สามารถเขียนได้เร็ว เนื้อหาครอบคลุม และถูกต้อง
– สามารถตั้งปัญหาที่ตรงประเด็น สั้น และกะทัดรัดได้ดี
– สามารถมองเห็นภาพรวมของเนื้อหาหรือสถานการณ์ได้
– สามารถหาข้อมูลหรือหลักฐานมาประกอบการตัดสินใจได้ดี
– มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง สมเหตุสมผล
– เป็นผู้ที่รู้ทันโลก รู้ทันสถานการณ์ในการดำเนินชีวิต
– ช่วยให้มีมุมมองที่หลากหลาย
– ช่วยให้เป็นผู้ไม่หลงงมงาย ไม่เชื่ออะไรง่าย
– เป็นผู้มีน้ำใจ และเปิดใจกว้าง
– ยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่น