โรคโลหิตจาง (anemia) สาเหตุ อาการและการรักษา


โลหิตจาง (anemia) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะจำนวนเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบิน (hemoglobin, Hb) ในร่างกายน้อยลง โดยมีค่าฮีโมโกลบินต่ำกว่าค่าของคนปกติ เกินกว่าสองเท่า ทำให้เกิดอาการตัวซีด ส่วนค่าฮีมาโทคริต (hematocrit, Hct) หรือปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ไม่สามารถบ่งบอกถึงภาวะโลหิตจางได้โดยตรง เนื่องจาก มีความผันแปรตามปริมาตรของน้ำเลือด และน้ำเหลืองด้วย

ชนิดของโรคโลหิตจาง
1. โลหิตจางจากการขาดสารอาหาร
โลหิตจางชนิดนี้เกิดจากการขาดสารอาหารที่จำเป็นในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น ขาดธาตุเหล็ก โฟเลท วิตามินบี12 รวมไปถึงความผิดปกติที่เกิดจากโรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) หรือโรคที่มีเซลล์มะเร็งในไขกระดูก

2. โลหิตจางจากการเสียเลือด
เป็นภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการเสียเลือดอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โดยชนิดเฉียบพลันจะทำให้ปริมาณธาตุเหล็กในเลือดลดลงอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะตัวซีด

3. โลหิตจางจากรอยโรค
เป็นโรคโลหิตจางที่เกิดจากโรคชนิดต่างๆที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกหรือถูกทำลายง่าย ส่งผลต่อปริมาณเม็ดเลือดแดงที่น้อยกว่าปกติ เช่น โรคต้านเม็ดเลือดแดง (Autoimmune Hemolytic Anemia) โรคเม็ดเลือดแดงขาดเอนไซม์ (G-6-pd Deficiency) และโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)

โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคโลหิตจางที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดการสร้างสารเบต้าโกลบินลดลง ส่งผลต่อปริมาณฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง และเกิดการแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงตามมา เป็นชนิดที่มีผลข้างเคียงต่อการทำงานของระบบหัวใจ ระบบต่อมไร้ท่อ และกระดูกตามมา

โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
เป็นภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กทำให้ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดงหรือมีค่าฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่าปกติ เนื่องมาจากร่างกายมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ที่จะนำไปสร้างเม็ดเลือดแดงได้

สาเหตุการขาดธาตุเหล็ก
สาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กที่พบมาเกิดจาก พฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยการรับประทานในหนึ่งมื้อนั้น อาจได้รับปริมาณธาตุเหล็กที่น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย หรือเกิดจากการได้รับสารอาหารที่เป็นตัวขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น กรดไฟติค ออกซาลิค และแทนนิน เป็นต้น ซึ่งมักพบในผักพื้นบ้าน เช่น ตำลึง กระเจี๊ยบ ใบชะพลู ชา เป็นต้น
1. การบริโภคอาหาร
การเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมักเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กต่ำ หรืออาหารที่รับประทานมีสารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในลำไส้ ทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอตามความต้องการของร่างกายที่เพิ่มขึ้น

2. ช่วงชีวิตเพศหญิง
การเสียเลือดจากการเป็นประจำเดือน การเสียเลือดจากการคลอดลูก ความต้องการธาตุเหล็กขณะตั้งครรภ์ และการเจริญเติบโตของเด็ก ส่งผลต่อปริมาณธาตุเหล็กที่ลดลง และทำให้เกิดการธาตุตามเหล็กตามมาทั้งตัวมารดา และบุตรเอง

3. รอยโรคต่างๆ
การเกิดโรคต่างๆที่มีสาเหตุทำให้ขาดธาตุเหล็กหรือปริมาณเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง แบ่งได้ ดังนี้
– โรคที่ทำให้สูญเสียเลือดเรื้อรัง ได้แก่ การเจ็บป่วยจากโรคพยาธิปากขอ พยาธิใบไม้เลือด และพยาธิแส้ม้า มีส่วนทำให้เสียเลือดเรื้อรัง รวมถึงการสูญเสียเลือดเรื้อรังจากโรคริดสีดวงทวารหนัก เลือดออกจากแผลในระบบทางเดินอาหาร และโรคมะเร็ง
– โรคที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก ได้แก่ ภาวะท้องร่วงอย่างรุนแรงยังเป็นส่วนหนึ่งที่ยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในลำไส้
– โรคจากพันธุกรรม ได้แก่ โรคซิกเคลเซลล์ (Sickle cell Disease) และโรคธาลัสซิเมีย (Thalassemia) เป็นต้น

4. ภาวะเศรษฐกิจ และสังคม
ความยากจน และภาวะขาดแคลนอาหารทำให้ผู้คนมีสิทธิเข้าถึงหรือเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงได้น้อยลง

การขาดธาตุเหล็กในวัยต่างๆ
1. เด็กทารก
เด็กวัยก่อนเรียน และเด็กวัยประถม โดยสาเหตุมักเกิดจากการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ได้รับธาตุเหล็กจากนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอ ดังนั้น เด็กในวัยนี้ที่ขาดธาตุเหล็กควรต้องได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเสริมร่วมด้วย เช่น ไข่แดง ตับ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจพบภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารของเด็กจากการแพ้นมผงจนเกิดภาวะโลหิตจางได้

2. เด็กวัยรุ่น
มักเกิดในเพศหญิงที่มีการสูญเสียเลือดทางประจำเดือนเป็นประจำ ประกอบกับได้รับธาตุเหล็กจากอาหารน้อย ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ง่าย และในวัยนี้มักพบเพศหญิงมีความต้องการธาตุเหล็กสูงกว่าเพศชาย

3. ผู้ใหญ่วัยทำงาน
การเกิดภาวะโลหิตจางในวัยนี้มักเกิดจากการสูญเสียเลือดจากรอยโรคต่างๆ อาทิ โรคพยาธิ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และโรคท้องร่วง รวมถึงอุบัติเหตุที่ทำให้เสียเลือดมากจากการทำงาน

4. หญิงตั้งครรภ์
ในระยะตั้งครรภ์มักเกิดการขาดธาตุเหล็กแบบสะสม จากการสูญเสียเลือดทางประจำเดือนในก่อนนั้น ประกอบกับความต้องการธาตุเหล็กสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดงของทารก ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กมากกว่าในช่วงอื่นๆ

กลุ่มเสี่ยงเกิดโรคโลหิตจาง
1. กลุ่มผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมักประสบปัญหาในเรื่องการรับประทานอาหาร และผลจากโรคต่างๆ เป็นหลัก เช่น เบื่ออาหาร เคี้ยวอาหารไม่ได้ รวมถึงโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มักทำให้เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กได้ง่ายขึ้น

2. กลุ่มวัยทำงาน และหญิงตั้งครรภ์
ในวัยทำงานมักมีการสูญเสียเลือดเรื้อรังจากโรคต่างๆ อาทิ โรคพยาธิ โรคแผลในระบบทางเดินอาหาร และการเสียเลือดจากอุบัติเหตุการทำงาน ส่วนหญิงตั้งครรภ์มักเกิดจาการสูญเสียเลือดสะสมในช่วงการเป็นประจำเดือน ประกอบกับความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากความต้องการธาตุเหล็กของทารกในครรภ์

3. กลุ่มผู้ที่บริโภคอาหารประเภทมังสวิรัติ
เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดจากการเน้นรับประทานอาหารจำพวกพืชผักมากกว่าเนื้อสัตว์ ทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ประกอบกับอาหารเหล่านั้นมีสารยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในปริมาณสูง จึงเกิดโอกาสเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางได้ง่าย

4. กลุ่มเด็ก
– กลุ่มเด็กทารก
เป็นวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี มักเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่เป็นผลมาจากขณะตั้งครรภ์ที่มารดาได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ทำให้เด็กทารกที่คลอดออกมามีปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำ ทำให้เด็กวัยนี้มีการพัฒนาทางร่างกาย และสมองต่ำกว่าปกติ ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างถาวร แต่ทั้งนี้ สามารถแก้ไขด้วยการเสริมธาตุเหล็กในนมหรืออาหารอย่างต่อเนื่องหลังคลอด

– กลุ่มเด็กวัยเรียน
อายุตั้งแต่ 2 – 5 ปี มักเป็นความเสี่ยงสะสมที่เกิดต่อเนื่องจากวัยในช่วงอายุต่ำกว่า 2 ปี ประกอบกับเด็กในวัยนี้บางรายมีอาการกำเริบจากการป่วยด้วยโรคที่มีผลต่อการลดลงของเม็ดเลือดแดง เช่น โรคธาลัสซีเมีย

5. กลุ่มวัยรุ่น
เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางได้มากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงที่มีประจำเดือน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่จะต้องมีธาตุเหล็กเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

อาการโรคโลหิตจาง
1. อาการเหนื่อยง่ายจากการออกแรงไม่มาก เช่น การเดินขึ้นบันได การเดินเร็วๆ ซึ่งอาหารเหนื่อยอาจเกิดรุนแรงมากสำหรับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางขั้นรุนแรง ทำให้การออกแรงเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เหนื่อยหอบได้ รวมถึงมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หัวใจสั่น เป็นลม หมดสติ และอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายได้
2. อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หรือเป็นลม หน้ามืด
3. อาการทางระบบประสาท เช่น รู้สึกมนงง หลงลืมง่าย หงุดหงิด ขาดสมาธิในการทำงาน
4. อาการหัวใจขาดเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยภาวะโลหิตจางส่งเสริมให้เกิดอาการกำเริบ และรุนแรงมากขึ้น
6. อาการการปวดตามกล้ามเนื้อจากการขาดเลือดของกล้ามเนื้อ ภาวะโลหิตจางส่งเสริมให้เกิดอาการกำเริบ และรุนแรงมากขึ้น
7. มีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้องจากภาวะเซลล์ขาดเลือด และออกซิเจน

ลักษณะเฉพาะโรคโลหิตจางที่ตรวจพบ
1. อาการชี้ชัดภาวะโลหิตจาง ได้แก่ เกิดอาการซีดบริเวณต่างๆ ได้แก่ สีผิวซีด โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ ใต้เล็บ และเยื่อบุเปลือกตาล่าง
2. อาการบ่งชี้สาเหตุภาวะโลหิตจาง เช่น อาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) จะหมายถึง ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกสลายของเม็ดเลือดแดง

anemia1

ผลกระทบจากภาวะโลหิตจางในวัยต่างๆ
1. เด็ก ทารกและเด็กเล็ก 0-2 ปี การขาดธาตุเหล็กในร่างกายปีแรกเป็นภาวะวิกฤตต่อการมีพัฒนาการเจริญเติบโต มีการสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้อย่างถาวร
2. เด็กก่อนวัยเรียน 2-5 ปี มีผลกระทบเช่นเดียวกับเด็กเล็กแต่ยังแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง
3. เด็กวัยเรียนและเด็กวัยรุ่น การพร่องธาตุเหล็กแม้จะยังซีด ก็เกิดผลร้ายต่อทั้งพัฒนาการทางร่างกายและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก
4. หญิงเจริญพันธุ์ การขาดธาตุเหล็กเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการคลอดทารก น้ำหนักน้อย
(ต่ำกว่า 2,500 กรัม) การคลอดก่อนกำหนด การตกเลือดขณะคลอด เป็นสาเหตุที่สำคัญของการตายระหว่างการคลอด
5. ประชาชนทั่วไป มีผลต่อขีดความสามารถในการทำงาน และลดภูมิต้านทานของโรค

การรักษาจากการขาดธาตุเหล็ก
1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย
เป็นขั้นตอนที่ช่วยในการวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น ได้แก่
– การซักประวัติการกินอาหาร โรคพยาธิ และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น วัณโรค โรคติดเชื้อ โรคตับโรคริดสีดวงทวารหนัก เป็นต้น
– การเสียเลือดทางใดทางหนึ่ง เช่น เลือดกำเดาเรื้อรัง มีเลือดออกทางกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เป็นต้น
– ประวัติการกินยา และถูกสารเคมีบางอย่าง
– ประวัติครอบครัว และญาติพี่น้องที่เป็นโรคโลหิตจาง

2. การเติมธาตุเหล็กในอาหาร ( Food Fortification)
เป็นวิธีการเสริมธาตุเหล็กผสมในอาหารเพิ่มปริมาณธาตุเหล็กให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย วิธีนีเหมาะสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ และผู้ป่วยที่ต้องควบคุมอาหารบางรายการ นอกจากนั้น วิธีนี้ยังใช้ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และยากจน พลเมืองขาดธาตุเหล็ก ด้วยการเสริมธาตุเหล็กในอาหารประจำวัน เช่น ข้าวสาลี แป้งข้าวโพด หรือเครื่องปรุง เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำตาล เกลือ เป็นต้น

3. อาหารเสริมธาตุเหล็ก (Oral Supplementation)
จากการรับประทานอาหารตามธรรมชาติที่อาจทำให้ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอหรือมีข้อจำกัดในเรื่องการเสริมธาตุเหล็กในอาหาร หรือมีปัญหาในเรื่องการรับประทานอาหาร อาจต้องใช้วิธีการรับประทานธาตุเหล็กในรูปอาหารเสริมธาตุเหล็กเข้มข้น ซึ่งอาจเป็นชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำ

4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
เป็นแนวทางที่สำหรับรักษา และป้องกันโรคโลหิตได้ควบคู่กันทั้งในผู้ป่วย และคนปกติ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในกลุ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเป็นประจำ เช่น เนื้อสัตว์ ตับ และเครื่องในต่าง ร่วมกับหลีกเลี่ยงพืชผักที่มีโฟเลท และแทนนินสูง

anemia2

เพิ่มเติมจาก : เสริมศุกดิ์ เคลือบทอง, 2551. ปัจจัย ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็กของนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในกรุงเทพมหานคร.

โรคโลหิตจาง (anemia)


Similar Posts