เป็นหวัดแบบมี เสมหะ/เสลด (Sputum)เกิดจากอะไร อาการวิธีดูแลตัวเองและการกำจัดเสมหะ


เสมหะ หรือ เสลด (Sputum) คืออะไร? มันคือสารเมือกที่สร้างขึ้นจากต่อมมูก และเซลล์กอบเลท ของทางเดินหายใจตั้งแต่หลอดลมคอถึงหลอดลมฝอย มีประมาณ 10-100 มิลลิลิตร/วัน เสมหะที่เคลือบอยู่บนผิวเนื้อเยื่อเมือกมี 2 ชั้น ชั้นนอก เรียกว่า เจล (Gel-layer) และชั้นใน เรียกว่า โซล (Sol layer) เสมหะชั้นนอกจะเหนียว และมีปริมาณน้ำในเสมหะน้อยกว่าเสมหะชั้นใน

เสมหะประกอบด้วยน้ำร้อยละ 95 และอีกร้อยละ 1 ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และสารอินทรีย์ (inorganic)

เสมหะสามารถเคลื่อนออกจากทางเดินหายใจได้โดยการโบกพัดขนกวัด (cillia) ที่บุอยู่ตามผนังหลอดลมในอัตรา 1-2 เซนติเมตร/วินาที โดยสามารถโบกพัดทั้งหมดไม่ถึง 20 นาที ในร่างกายจะมีกลไกในการทำให้เกิดสุขอนามัยที่ดีของหลอดลม เพื่อให้ขนกวัดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการสร้างเสมหะพอเหมาะกับสภาวะของร่างกายทั้งจำนวน และลักษณะของเสมหะ คือ มีจำนวนปกติ และลักษณะที่ไม่เหนียวข้น ถ้าหากมีความผิดปกติประการใดประการหนึ่ง หรือทั้งสองประการ จะทำให้เกิดการคั่งค้างของเสมหะ และถ้าร่างกายไม่สามารถขับระบายเสมหะออกสู่ภายนอกได้ จะทำให้เกิดการอุดตันของหลอดลม ผลที่ตามมาทำให้เกิดการระบายอากาศไม่ดี มีออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ หัวใจทำงานมากขึ้น มีภาวะปอดอักเสบ ปอดแฟบ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สาเหตุการเกิดเสมหะ
1. การระคายเคืองบริเวณลำคอ
การระคายเคืองบริเวณลำคอ ได้แก่ การสูดดมสารเคมี หรือสารมลพิษ การสูบบุหรี่ รวมถึงการดื่มหรือรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มรสจัด เช่น อาหารเผ็ดร้อน อาหารเค็ม จนทำให้ลำคอเกิดการระคายเคือง ระคายเคือง เมื่อเกิดการระคายเคือง ร่างกายจะมีกลไกกระตุ้นการหลั่งเหสมหะจากต่อมสร้างเสมหะออกมาเคลือบบริเวณลำคอ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเซลล์เยื่อบุ และหากหลั่งมาก จะเกิดการรวมตัวเป็นเสมหะหรือจับกันเป็นก้อนเหนียว นอกจากการระคายเคืองจากสารภายนอกแล้ว การไอแห้งบ่อยๆถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลำคอเกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน

2. โรคจมูกอักเสบ
โรคจมูกอักเสบ ทั้งที่เกิดจาก ภูมิแพ้ (allergic rhinitis) และชนิดที่ไม่ได้มาจากภูมิแพ้ (non-allergic rhinitis) โรคจมูกอักเสบ ทั้ง 2 ชนิด มีเยื่อบุโพรงจมูกที่ไวผิดปกติ และเมื่อสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ หรือสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง จะกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำมูกไหลลงคอกลายเป็นเสมหะหรือเสลด โดยในระยะแรกที่น้ำมูกไหลลงสู่คอกลายเป็นเสมหะ เสมหะนี้จะมีสีขาวขุ่น ไม่เหนียวข้น แต่เมื่อเกิดการคั่งค้างที่ลำคอนาน อาทิ การตอนนอนในตอนเช้า เสมหะจะกลายเป็นสีเหลือง และจับกันเป็นก้อน

3. โรคไซนัสอักเสบ และเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ
โรคไซนัสอักเสบ และเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ จะทำให้มีการสร้างน้ำมูกไหลลงสู่คอคล้ายกับโรคจมูกอักเสบ กลายเป็นเสมหะเช่นกัน แต่เสมหะที่เกิดขึ้นเกิดจากการติดเชื้อจึงทำให้เสมหะมีสีเขียว หรือเหลืองตลอดเวลา

4. โรคกรดไหลย้อน
การมีกรดไหลย้อนไหลขึ้นมาบริเวณลำคอจะทำให้เยื่อบุลำคอเกิดการระคายเคืองจากความเป็นกรดของสารละลายที่ไหลขึ้นมา ทำให้กระตุ้นการสร้างน้ำเมือกออกมาจากต่อมสร้างเสมหะเพื่อเข้าเคลือบสำหรับป้องกันอันตรายหรือการอักเสบที่อาจเกิดขึ้นกับเยื่อบุในลำคอ เสมหะลักษณะนี้จะไม่เหนียวข้นมาก และไม่มีสี สามารถกำจัดออกภายนอกผ่านการไอหรือกลืนได้ง่าย และจะหายเองภายในไม่กี่นาที หากไม่มีกรดไหลย้อนเกิดขึ้นอีก

5. การใช้เสียงไม่ถูกต้อง และการทำงานหนัก
การใช้เสียงไม่ถูกต้อง เช่น การตะโกนเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการระคายเคืองหรือกเดการอักเสบของกล่องเสียง และเยื่อบุในลำคอ ทำให้ร่างกายสร้างเสมหะมาเคลือบลำคออยู่ตลอดเวลา ส่วนผู้ที่ทำงานหนัก จนมีอัตราการหายใจถี่แรง และลมหายใจมีความร้อนมากกว่าปกติ จนทำให้ลำคอแห้ง และเกิดการระคายเคือง และร่างกายสร้างเสมหะออกมาเคลือบเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ลำคอ เสมหะที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ และเป็นเสมหะที่กำจัดออกได้ง่าย และจะหายเอง หากลำคอหายจากการระคายเคือง

6. โรคหลอดลมอักเสบ และโรคหอบหืด
โรคหลอดลมอักเสบ และโรคหอบหืด ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งอาจเกิดจากการะคายเคืองจากสารเคมีหรือสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ และเมื่อเกิดการอักเสบ ต่อมสร้างเสมหะจะสร้างเสมหะมาเคลือบที่ผิวหลอดลมตลอดเวลา

7. การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ
การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ เช่น เป็นวัณโรค ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบบริเวณลำคออย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายสร้างเสมหะออกมาเคลือบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเรื้อรังจะเกิดเสมหะอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะรักษาหรือกำจัดเชื้อได้หายขาด

สาเหตุเสมหะหรือเสลดเหนียวข้น
เนื่องจากเสมหะประกอบด้วยน้ำร้อยละ 95 ฉะนั้น การที่เสมหะเหนียวข้นจึงเป็นผลมาจากการที่ร่างกายสูญเสียความสมดุลของน้ำ โดยที่ร่างกายได้รับน้ำเข้าไปน้อยกว่า ปริมาณน้ำที่ร่างกายสูญเสีย เป็นผลให้เสมหะไม่ได้รับน้ำจากซีรั่ม (serum)

ปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับเข้าไปได้จากน้ำดื่ม อาหาร และน้ำ ซึ่งได้จากการเผาพลาญสารอาหารในร่างกายซึ่งมีประมาณ 300 มิลลิลิตร/วัน

การสูญเสียน้ำจากร่างกาย
1. ปัสสาวะ
ปกติปัสสาวะจะมีการขับออกประมาณ 1,500 มิลลิลิตร/วัน เป็นวิธีที่ร่างกายสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมากที่สุด แต่ปริมาณปัสสาวะอาจมากหรือน้อยกว่านี้ได้ ขึ้นกับปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับ และทางอุจจาระประมาณ 100-200 มิลลิลิตร/วัน

2. การสูญเสียน้ำแบบไม่รู้สึกตัว
การสูญเสียน้ำแบบไม่รู้สึกตัว สูญเสียได้ 2 ทาง คือ ทางผิวหนัง ประมาณวันละ 0.5-1 ลิตร และทางลมหายใจปอดประมาณวันละ 250-300 มิลลิลิตร การสูญเสียน้ำโดยไม่รู้สึกตัวนี้อาจมีปริมาณสูงขึ้นได้ เนื่องจาก
– อุณหภูมิของอากาศ ถ้าอุณหภูมิอากาศสูง น้ำจะระเหยออกจากร่างกายมากขึ้น ถ้าอากาศร้อนจัด ร่างกายจะสูญเสียน้ำทางผิวหนัง และหายใจ ถึง 5,000 มิลลิลิตร/วัน
– อุณหภูมิร่างกาย ถ้าอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น 1 °C จากอุณหภูมิปกติ จะทำให้ร่างกายเสียน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ของปริมาณน้ำที่ระเหย ภาวะที่ทำให้มีการเพิ่มการเผาพลาญในร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย การทำงานหนัก การหายใจเร็ว ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น จะทำให้มีการสูญเสียน้ำมากขึ้น

อัตราการหายใจมีความสำคัญต่อปริมาณการสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย เพราะการหายใจทุกครั้งจะมีการปรับสภาพอากาศที่เข้า และออกจากปอดเพื่อให้มีความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 100 เสมอ โดยมีจมูก และทางเดินหายใจส่วนบนทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นของอากาศให้เหมาะเหมาะขณะที่หายใจเข้าไป โดยทำให้อากาศที่ผ่านเข้าไปถึงหลอดลมมีอุณหภูมิ 37 °C และมีความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 100 เสมอ เพื่อให้ระบบการขับเยื่อเมือก และการทำงานของขนกวัดเกิดขึ้นตามปกติ เพื่อให้ร่างกายไม่เสียความร้อน และน้ำออกทางปอดมาก

ดังนั้น คนปกติจึงไม่ต้องการดูแลเรื่องอุณหภูมิ และความชื้นของอากาศที่หายใจ ยกเว้นในผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อหลอดลมคอ ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยระบายอากาศหายใจ ผู้ป่วยที่ให้การรักษาด้วยออกซิเจน เนื่องจากออกซิเจนเป็นก๊าซแห้ง ถ้าได้รับเข้าไปจำนวนมากจะทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง และไม่สามารถรักษาอุณหภูมิ และความชื้นของอากาศหายใจได้ ดังเช่นที่พบว่า เสมหะเหนียว ยากแก่การดูดออก ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางระบบการหายใจตามมาได้

การวัดความเหนียวของเสมหะหรือเสลด
เสมหะคุณสมบัติเป็นสารกึ่งของแข็งที่มีความเหนียวหนืด (Viscoelastic semisolid) คือ มีความเหนียว (Viscosity) และความสามารถยืดหดได้ (elasticity) การศึกษาหาความเหนียวของเสมหะซึ่งเป็นคุณสมบัติทางฟิสิกส์ เสมหะที่นำมาศึกษาต้องเป็นเสมหะที่ทิ้งไว้ไม่นานเกิน 3 ชั่วโมงเพราะหากเกิน 3 ชั่วโมงจะทำให้คุณสมบัติทางฟิสิกส์เปลี่ยนไป

ประพาฬ ยงใจยุทธ และสุชัย เจริญรัตนกุล ได้ศึกษาเกี่ยวกับยาละลายเสมหะ และความเหนียวหนืดของเสมหะ โดยวัดสปิวตัมโพเอบิลิตี้ ดัดแปลงจากวิธีของฮาลวัต โยใช้เสมหะและกลีเซอรีนบริสุทธิ์มาอย่างละ 1 หยด ให้มีปริมาตรเท่ากัน แล้วหยดลงบนแผ่นกระจกที่เอียงทำมุม 45 องศากับพื้นราบ แล้วเปรียบเทียบระยะเวลาเป็นวินาทีที่เสมหะ และกลีเซอรีนบริสุทธิ์ไหลลงมาเป็นระยะทาง 5 เซนติเมตร แล้วคำนวณความเหนียวของเสมหะโดยคำนวณอัตราการไหลของเสมหะโดยใช้สูตร

Sputum pourablity =เวลาที่เสหมะไหล (วินาที)  x  100 เวลาที่กลีเซอรีนบริสุทธิ์ไหล (วินาที)

วิธีกำจัดเสมหะหรือเสลด
เสมหะมักจะเหนียว และแห้ง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขับระบายออก ดังนั้น การทำให้เสมหะมีความเหนียวน้อยลง และสามารถขับระบายออกได้ง่าย มีหลายวิธี ดังนี้
1. ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น
การดื่มน้ำมาก เป็นการเพิ่มน้ำให้แก่ร่างกาย และเป็นการช่วยเพิ่มน้ำในเสมหะ ทำให้ความเหนียวของเสมหะลดลง เพราะน้ำเป็นยาขับเสมหะที่ดีที่สุด เมื่อเสมหะมีความเหนียวลดลง การขับระบายออกจะทำได้ง่ายขึ้น การให้น้ำทำได้โดยการดื่มซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และสะดวก แต่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถดื่มได้อาจให้น้ำทางหลอดเลือดดำแทนก็จะช่วยได้เช่นกัน

2. การดื่มน้ำอุ่น
สำหรับการดื่มน้ำอุ่นจะยิ่งช่วยลดความเหนียวของเสมหะได้ดีกว่าน้ำธรรมดา เพราะน้ำอุ่นมีอุณหภูมิสูงกว่า ซึ่งความร้อนจะช่วยให้น้ำแทรกซึมเข้าสู่เสมหะได้ง่ายขึ้น

3. การกลั้วคอหรือดื่มน้ำผสมเกลือ
การดื่มน้ำธรรมดาอาจช่วยเพิ่มความชื้นหรือทำให้เสมหะเหนียวน้อยลงได้ แต่หากนำน้ำผสมเกลือเพียงเล็กน้อยดื่มหรือกลั้วคอ จะช่วยให้เสมหะอ่อนตัวหรือลดความเหนียวได้รวดเร็วขึ้น เพราะน้ำเกลือสามารถแพร่เข้าเสหะได้รวดเร็วกว่าน้ำธรรมดา

4. การกลั้วคอหรือดื่มด้วยน้ำโซดา
น้ำโซดามีคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ ทำให้น้ำโซดามีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ การกลั้วคอหรือดื่มด้วยน้ำโซดาจึงช่วยละลายเสมหะได้

5. รับประทานอาหารประเภทต้ม
อาหารระเภทต้มมีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำอุ่น แต่จะมีประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะมีเครื่องเทศหรือสมุนไพรมาด้วย อาหารประเภทต้ม ได้แก่ น้ำซุป ต้มยำ หรือแกงต่างๆ

6. การกินอาหารรสชาติเผ็ดร้อน
อาหารที่มีรสเผ็ดร้อนมักมีส่วนประกอบเป็นพืชสมุนไพรหรือผักที่ให้รสเผ็ด เช่น พริก พริกไทย ดีปลี ข่า ขิง และกระเพรา เป็นต้น เมื่อใช้ผักหรือสมุนไพรเหล่านี้จะทำให้อาหารมีรสเผ็ด ซึ่งอาหารที่มีรสเผ็ดจะกระตุ้นการขับน้ำออกมาเคลือบภายในลำคอ ประกอบกับน้ำที่ได้รับจากอาหารจะซึมเข้าเสมหะ ทำให้เสมหะอ่อนตัว จนทำให้ไอขับออกได้ง่าย

7. การใช้สมุนไพรหรือผลไม้รสเปรี้ยว
สมุนไพรหรือผลไม้หลายชนิดสามารถช่วยลดปริมาณ และความเหนียวของเสมหะได้ โดยเฉพาะสมุนไพรหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ได้แก่ มะนาว มะขามเปรี้ยว มะขามป้อม สมอไทย เป็นต้น หรือสมุนไพรที่มีรสเผ็ด เช่น พริก พริกไทย และดีปลี เป็นต้น การใช้ประโยชน์สมุนไพร อาจรับประทานได้โดยตรง การปรุงอาหาร หรือใช้ต้มน้ำดื่ม ทั้งนี้ การใช้สมุนไพร และเครื่องเทศจะอาศัยคุณสมบัติของความเผ็ด และคุณสมบัติด้านอื่นช่วยในการละลายเสมหะ เช่น น้ำช่วยเพิ่มความชื้น ส่วนความร้อนช่วยละลายเสมหะ เป็นต้น

8. การชะล้าง และดูดเสมหะ
เริ่มจากการชะล้างหลอดลมคอ และหลอดลมปอด ในผู้ป่วยที่มีเสมหะเหนียว และอยู่ลึก ผู้ป่วยไอไม่ออก ซึ่งทำโดยใช้น้ำเกลือนอร์มัลที่ปราศจากเชื้อหรือน้ำกลั่น กับน้ำยาโซเดียมไบคาร์บอเนต อัตราส่วนเท่าๆ กัน หยอดเข้าไปในท่อหลอดลมคอ ครั้งละประมาร 2-3 มิลลิลิตร แล้วบีบด้วยแอมบูเข้าไปในปอดช้าๆ แล้วคลายแอมบูทันที ผู้ป่วยอาจไอเอาเสมหะออกมา และใช้เครื่องดูดเสมหะจะทำให้เสมหะขับระบายออกมาได้

9. การใช้ยา
ยาขับเสมหะเป็นยาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่ายาขับเสมหะมีฤทธิ์ในการเพิ่มน้ำในเสมหะให้มากขึ้น ทำให้เสมหะเหลวขับออกได้ง่าย

ยาละลายเสมหะ ทำให้เส้นใยของเสมหะซึ่งเป็นโปรตีนขาดออกจากกัน ซึ่งในห้องปฏิบัติการ พบว่า ช่วยลดความเหนียวของเสมหะได้ เช่น ไบโซวอล (bisolvon) และฟลูมิซิล (fluimucil)

 

10. กายภาพบำบัดของทรวงอก
กายภาพบำบัดของทรวงอก ได้แก่ การจัดท่านอน การทำการเคาะเพื่อให้เกิดการสั่นสะเทือนที่ทรวงอก เป็นวิธีที่ทำให้เสมหะไหลออกจากหลอดลมปอดออกมาสู่หลอดลมใหญ่ได้ผลดียิ่งขึ้น

11. การให้ความชื้น
ความชื้น (humidity) หมายถึง น้ำที่อยู่ในสภาพของไอ (vapor) ที่มีอยู่ในอากาศ หรือในก๊าซ การทำงานของขนกวัดขึ้นอยู่กับระดับความชื้นที่เหมาะสมจากการใส่ท่อหลอดลมคอจะทำให้ความชื้นในทางเดินหายใจลดลง

 

การให้ความชื้นแก่ทางเดินหายใจ จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจยุบบวม และไม่แห้ง ดังนั้น การให้ความชื้นในอุณหภูมิที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญในผู้ป่วยหรือผู้ที่มีเสมหะมาก ซึ่งอุณหภูมิของความชื้นที่เหมาะสม คือ ความชื้นแบบอุ่นที่อุณหภูมิ 37 °C

ในกรณีผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยระบายอากาศหายใจ จะได้รับความชื้นจากเครื่องทำความชื้น (humidifier) โดยทำให้เกิดไอน้ำขึ้นในก๊าซออกซิเจนที่หายใจเข้าไป และทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 100 แต่จะมีความชื้นสัมบูรณ์หรือปริมาณไอน้ำจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ดังนี้

อุณหภูมิ ความชื้นสัมบูรณ์
21 °C 18.35 มิลลิกรัม/ลิตร
25 °C 23.04  มิลลิกรัม/ลิตร
26 °C 24.36  มิลลิกรัม/ลิตร
30 °C 30.35 มิลลิกรัม/ลิตร
35 °C 39.60 มิลลิกรัม/ลิตร
36 °C 41.70 มิลลิกรัม/ลิตร
37 °C 43.90 มิลลิกรัม/ลิตร
38 °C 46.19 มิลลิกรัม/ลิตร
40 °C 51.10 มิลลิกรัม/ลิตร

 

12. การสูดหายใจเข้า-ออกให้ลึกๆ
การสูดหายใจเข้า-ออกให้ลึกๆจนเต็มปอด ติดต่อกัน 3-5 ครั้ง พักสัก 5-10 นาที แล้วทำสลับกับการพัก 2-3 ครั้ง วิธีนี้จะทำให้ถุงลมในปอดขยายพองโตได้มากกว่าหายใจทั่วไป และการสูดลมจนเต็มถุงลม และหายใจออก ลมที่ขับออกมาจะช่วยดันเสมหะที่ตกค้างในถุงลมเคลื่อนตัวออกมาสู่ลำคอได้เร็วขึ้น แล้วจึงใช้การไอช่วยขับเสมหะออกทางปากด้านนอกอีกครั้ง

13. การไอขับเสมหะออก
การไอเป็นกลไกการขับเสมหะตามธรรมชาติของคนทั่วไป วิธีนี้ใช้เมื่อมีเสมหะคั่งค้างบริเวณลำคอมาก และสามารถใช้ต่อเนื่องกับการหายใจเข้า-ออกในข้างต้น โดยใช้ลมผักดันเสมหะออกมาทางปาก การไอเพื่อขับเสมหะออกอย่างได้ผล จะต้องสูดลมหายใจให้ลึกๆจนเต็มปอด คอก้มลงเล็กน้อย ไหล่ไม่ขยาย และกลั้นหายใจไว้สัก 1-2 วินาที แล้วไอกระแทกแรงๆ ซึ่งลมที่ขับออกมาดันแรงดันของกระบังลมจะช่วยดันเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ หากเสมหะมีความเหนียวมาก การไอไม่สามารถขับออกมาได้ ให้หยุดไอไว้ก่อน จากนั้น จิบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 1-2 แก้ว รอประมาณ 5-10 นาที จนรู้สึกว่าเสมหะมีความเหนียวน้อยจึงเริ่มใช้การไอขับออก แต่ไม่ควรไอติดต่อกันนานหลายครั้ง โดยเฉพาะเวลาที่เสมหะแห้งหรือมีน้อย เพราะจะทำให้ลำคอแห้ง จนเกิดการระคายเคือง และเจ็บคอได้

เครดิตอ้างอิงที่มา 


Similar Posts