ฟันน้ำนมคืออะไร มีทั้งหมดกี่ซี่ ความสำคัญอย่างไร วิธีการดูแล ฟันซี่ไหนควรขึ้นและหลุดก่อนมีฟันแท้ 


มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ในเรื่องของฟันน้ำนมและการขึ้นของฟันแท้ในช่องปาก โดยหลายท่านมักจะเชื่อว่าฟันน้ำนมไม่สำคัญ ถ้าหากลูกมีฟันน้ำนมผุแล้วต้องถอนฟันออกไปก็ไม่เป็นไร เพราะหากไม่มีฟันน้ำนมแล้วเดี๋ยวฟันแท้ก็จะขึ้นมาแทนที่ในไม่ช้า แต่ในความเป็นจริงจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะหากเด็กมีการสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด ในขณะที่หน่อฟันแท้ที่จะขึ้นมาแทนที่ยังมีการสร้างฟันไม่เสร็จ ฟันแท้ที่คุณพ่อคุณแม่รอคอยก็จะยังไม่ขึ้นสู่ช่องปากของลูก

ขอยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกต้องเสียฟันกรามน้ำนมไปตั้งแต่ยังเล็กช่วง 3 ขวบ เด็กจะต้องฟันหลอไม่มีฟันเคี้ยวอาหารและรอคอยฟันแท้ซี่ที่จะขึ้นมาแทนที่นานถึง 8 ปีกันเลยทีเดียว ถึงจุดนี้คงต้องขอขยายความเพิ่มเติมเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจยิ่งขึ้นโดยจะขอเล่าถึงฟันในขากรรไกรของคนเรา ดังนี้

ฟัน (ถ้าไม่นับรวมฟันปลอม) มี 2 ชุดเท่านั้น  ฟันน้ำนมเป็นฟันชุดแรกที่ขึ้นสู่ช่องปาก โดยจะเริ่มพบฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นช่วงเด็กอายุประมาณ 6 เดือน ซึ่งซี่แรกที่ขึ้นจะเป็นฟันหน้าล่าง ตามด้วยฟันหน้าบน ฟันกรามและฟันเขี้ยวจนมีจำนวนครบ 20 ซี่ในช่วงที่เด็กอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง ส่วนฟันแท้จัดเป็นฟันชุดที่สองที่จะขึ้นต่อมาเพื่อแทนที่ในตำแหน่งเดิมของฟันน้ำนม 20 ซี่ และมีเพิ่มอีก 12 ซี่ที่จะขึ้นในตำแหน่งด้านหลังของขากรรไกร ทั้งนี้ฟันแท้จะขึ้นสู่ช่องปากเมื่อมีการสร้างฟันที่พร้อมสมบูรณ์และถึงอายุตามวัยปฏิทินในการขึ้นของฟันแต่ละซี่ เช่น ฟันกรามแท้ที่ขึ้นมาแทนในตำแหน่งของฟันกรามน้ำนมมีช่วงของการขึ้นเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 10-12 ปี เป็นต้น

เด็กใช้ฟันน้ำนมในการกัดและบดเคี้ยวอาหารก่อนจะกลืนลงสู่กระเพาะ เพื่อนำอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองและร่างกายที่สมบูรณ์ต่อไป ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าฟันน้ำนมเป็นประตูด่านแรกของการย่อยอาหารที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากเด็กมีฟันผุ อักเสบบวมเป็นหนอง ปวดฟัน หรือต้องถูกถอนฟันไปก่อนกำหนด ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้จะเกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายตามมา อีกทั้งฟันน้ำนมยังมีบทบาทในการใช้พูดออกเสียงพยัญชนะ ทำให้เด็กออกเสียงได้ชัดเจน เกิดผลต่อภาพลักษณ์และบุคลิกภาพที่ดีและมีรอยยิ้มที่สวยงาม เสริมความมั่นใจ ไม่มีอุปสรรคในการเข้าสังคม เด็กบางคนไม่อยากไปโรงเรียนเพราะโดนเพื่อนล้อเมื่อมีฟันหน้าหลอหรือฟันผุดำไม่สวยงาม

นอกจากนี้ฟันน้ำนมยังมีหน้าที่สำคัญยิ่งอีกประการคือเป็นเครื่องมือกันช่องว่างในขากรรไกรตามธรรมชาติสำหรับหน่อฟันแท้ที่จะขึ้นมาแทนที่ในอนาคตเมื่อฟันน้ำนมซี่นั้นหลุดไป หากมีการเสียฟันน้ำนมไปเร็วกว่าปกติจะเกิดปัญหาของการสูญเสียช่องว่างในขากรรไกรตามมา ซึ่งจะเกิดผลเสียทำให้ฟันแท้ขึ้นไม่ได้เนื่องจากขนาดช่องว่างที่เหลืออยู่ไม่พอ อาจพบว่าฟันแท้มีการขึ้นผิดตำแหน่งเกิดฟันซ้อนเกหรือฟันคุดซึ่งทำให้เป็นปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้นและต้องตามมาด้วยการรักษาที่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงขึ้นอีกด้วย

หลักการสำคัญ คือการป้องกันฟันผุง่ายกว่าการรักษา อีกทั้งยังไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างและส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพฟันที่ดี โดยเริ่มจากการดูแลฟันของบุตรหลานตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกที่ขึ้นสู่ช่องปากเพื่อให้เด็กมีสุขภาพฟันที่ดีตั้งแต่ชุดฟันน้ำนมจนเปลี่ยนสู่ชุดฟันแท้ โดยการฝึกเด็กเพื่อให้เกิดความเคยชินกับการทำความสะอาดฟัน สันเหงือก กระพุ้งแก้ม ลิ้น และอวัยวะในปากโดยรอบ และการเลือกอาหารตลอดจนอาหารว่างที่มีประโยชน์ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ

อีกทั้งการพาบุตรหลานไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจฟันและแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างช้าภายในขวบปีแรก และรับการรักษาเมื่อเกิดฟันผุตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก่อนจะลุกลาม รวมถึงการหมั่นตรวจเช็คฟันประจำสม่ำเสมอทุก 6 เดือน เพื่อให้เด็กมีสุขภาพฟันน้ำนมที่ดีและเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพฟันแท้ที่ดีในอนาคต ถึงจุดนี้ทุกท่านคงจะทราบแล้วว่าสุขภาพฟันที่ดีของลูกอยู่ในมือของคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านนั่นเอง

 

คำถามที่มักมีบ่อยๆเกี่ยวกับฟันน้ำนม 

1. จำเป็นหรือไม่ที่ต้องถอนฟันน้ำนมทิ้งเพื่อให้ฟันแท้ขึ้นให้เป็นระเบียบ

ในกรณีที่ฟันน้ำนมในตำแหน่งนั้นโยกมากและมีแนวโน้มว่าสามารถหลุดได้เองอยู่แล้ว คุณแม่สามารถรอให้ฟันน้ำนมโยกหลุดตามธรรมชาติได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องให้ทันตแพทย์ถอนฟันน้ำนม แต่ในกรณีที่ฟันน้ำนมตำแหน่งนั้นไม่โยกเลย แนะนำว่าควรมาพบทันตแพทย์เพื่อประเมินและรับการรักษาที่เหมาะสม เช่น อาจต้องถอนฟันน้ำนมตำแหน่งนั้น ๆ

2. ตอนนี้มีฟันแท้ 2 ซี่ ขึ้นไม่เป็นระเบียบ ควรดัดฟันตอนอายุกี่ปี

การจัดฟันในผู้ป่วยแต่ละรายมีข้อบ่งชี้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นแนะนำว่าควรพาเด็ก ๆ มาพบทันตแพทย์เพื่อประเมินและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมในแต่ละรายไปค่ะ

3. ควรทำอย่างไรเพื่อให้ฟันแท้ขึ้นเป็นระเบียบ

การเรียงตัวของฟันแท้จะเป็นระเบียบหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งบางกรณีไม่สามารถให้การป้องกันได้ อย่างไรก้ตาม การป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ มีฟันผุลุกลาม หรือมีการอักเสบติดเชื้อจากฟัน จะเป็นการลดปัจจัยที่จะทำให้ฟันแท้ในตำแหน่งนั้น ๆ ขึ้นผิดทิศทาง การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน การมาพบทันตแพทย์เป็นประจำ จะทำให้ผู้ปกครองได้ข้อมูลที่เหมาะสมในเด็กแต่ละรายค่ะ

 

นายแพทย์อรรถพล  แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงความสำคัญของฟันน้ำนมของลูกซึ่งคุณพ่อและคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญ หากเด็กสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนดในขณะที่หน่อฟันแท้ที่จะขึ้นมาแทนที่ยังสร้างไม่เสร็จ จะส่งผลให้ฟันแท้ยังไม่ขึ้นในช่องปากของเด็ก เพราะฟันแท้จะขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสร้างฟันที่พร้อมสมบูรณ์ และถึงอายุการขึ้นของฟันแต่ละซี่ เช่น หากลูกต้องสูญเสียฟันกรามน้ำนมตั้งแต่อายุ   3 ปี ลูกจะต้องฟันหลอ ไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร และรอคอยฟันแท้ซี่ที่จะขึ้นมาแทนที่นานถึง 8 ปี ซึ่งการมีฟันน้ำนมอยู่ครบทุกซี่สำหรับบดเคี้ยวอาหาร จะช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนตามสมควร หากมีฟันผุอักเสบบวมเป็นหนอง ปวดฟัน หรือต้องถูกถอนฟันไปก่อนกำหนด จะทำให้เด็กกินอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้มีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำ และความเจ็บปวดยังรบกวนการนอนของเด็ก เมื่อเด็กหลับไม่สนิทจะทำให้การหลั่งของฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายลดลง

“ขณะที่ร่างกายมีการติดเชื้อจากฟันผุ ร่างกายจะมีอัตราการเผาผลาญพลังงานโดยรวมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการรบกวนต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติของเด็ก ซึ่งจากการศึกษาในหลายประเทศพบว่า เด็กที่ฟันน้ำนมผุมีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการ การเจริญเติบโตด้านน้ำหนักตัว ส่วนสูง และพัฒนาการต่ำกว่าเด็กที่มีฟันผุน้อยกว่าหรือไม่มีฟันผุเลย สำหรับฟันน้ำนมที่ดีจะช่วยป้องกันฟันแท้ซ้อนเก เพราะฟันน้ำนมแต่ละซี่ทำหน้าที่จองพื้นที่ไว้สำหรับฟันแท้ที่อยู่ในขากรรไกร ซึ่งรอการขึ้นตามกาลเวลา เมื่อมีการสูญเสียฟันน้ำนมก่อนวัยอันควรจึงมีผลให้ฟันแท้ซี่ที่ขึ้นก่อนล้มเอียงไปตามช่องว่างที่มีอยู่ ฟันแท้ที่ขึ้นมาทีหลังจึงซ้อนเก เนื่องจากขนาดช่องว่างที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอ เกิดปัญหาในการบดเคี้ยวอาหารและความสวยงามของใบหน้า นอกจากนี้ยังทำให้เด็กออกเสียงได้ไม่ชัดเจน ส่งผลให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และกระทบต่อความกล้าแสดงออกอีกด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว

ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า การทำความสะอาดช่องปาก และการแปรงฟันให้ลูก เป็นวิธีการที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งในการรักษาฟันน้ำนมให้อยู่ในช่องปากได้นานที่สุด โดยปกติเด็กเล็กมักจะร้องเวลาแปรงฟัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ หากคุณพ่อ คุณแม่ ทำความสะอาดช่องปาก แปรงฟันให้ลูกน้อยได้ถูกต้อง และแปรงอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ลูกจะไม่เจ็บและเกิดความเคยชินจนสามารถให้ความร่วมมือได้อย่างดี เด็กแรกเกิดจนถึงช่วงวัยก่อนมีฟันน้ำนมขึ้นใน ช่องปาก ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ดเหงือก กระพุ้งแก้ม ลิ้นให้ลูกเพื่อขจัดคราบนมวันละ 2 ครั้ง เมื่อลูกเริ่มมีฟันน้ำนมในช่องปาก ควรแปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ แตะขนแปรงพอเปียก ถูแปรงไปมาสั้นๆ ในแนวขวาง อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน โดยผู้ปกครองนั่งพื้นให้เด็กนอนหนุนตัก หรือนั่งบนเก้าอี้ให้เด็กยืนหันหลังให้ ถ้าเด็กดิ้นให้ใช้ขาควบคุมแขนและขาของเด็กไว้ให้นิ่ง ใช้นิ้วแหวกกระพุ้งแก้มหรือริมฝีปากเพื่อให้เห็นฟันที่จะแปรงได้ชัดเจน ใช้ผ้าสะอาดเช็ดยาสีฟันออกหลังแปรงฟัน เมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี ฝึกให้เด็กแปรงฟันเอง แต่วัยนี้ เด็กจะยังไม่สามารถแปรงฟันเองได้สะอาด ผู้ปกครองควรแปรงซ้ำให้จนเด็กอายุประมาณ 7-8 ปี ที่สำคัญที่สุด ผู้ปกครองควรตรวจฟันเด็กเดือนละครั้ง หากพบฟันผุหรือความผิดปกติในช่องปาก ต้องพาไปพบทันตแพทย์ได้ทันที เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุลึกจนต้องถอนฟันออกในที่สุด

Cr. ทพญ.วัลลภิษฐ์  วิสุทธิศักดิ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) และ ศูนย์สื่อสารสาธารณะ


Similar Posts