โครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) สร้างความสำเร็จให้แก่กิจการเพื่อสังคม


ในยุคสมัยที่เทรนด์ต่าง ๆ ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรอบด้าน การทำธุรกิจในยุคใหม่ก็ถูกผลักดันให้เกิดวิวัฒนาการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มากกว่าการได้รับสินค้าและบริการ แต่รวมไปถึงการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจด้วย ทำให้การทำธุรกิจแนวใหม่อย่างกิจการเพื่อสังคมกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงและกำลังเป็นที่จับตามองจากทุกภาคส่วน เพราะเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลกำไรและสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

ในประเทศไทย ภาครัฐได้สนับสนุนการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมให้ประสบความสำเร็จ ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็ร่วมสานพลังเดินหน้าจัดกิจกรรมส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ โครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” หรือ “Banpu Champions for Change (BC4C)” โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก และ สถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้ดำเนินการบ่มเพาะและสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังสร้างสรรค์และศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบต่าง ๆ โดยกิจการเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการฯ นั้น บ้างก็อยู่ในระยะเริ่มต้นเป็นเพียงแค่ไอเดียตั้งต้น บ้างก็ดำเนินธุรกิจมาสักระยะพร้อมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและประโยชน์ให้แก่สังคมควบคู่กับสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งไม่ว่าธุรกิจของผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมจะอยู่ในระยะไหน เครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาก้าวต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนของกิจการในที่สุด คือ 3 อาวุธทางความคิด ‘เปิด ปรับ เปลี่ยน’

อาวุธทางความคิดแรกคือ การเปิด – เปิดใจ คนส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ที่เราคุ้นเคย รู้สึกปลอดภัย หรือที่เรียกว่า คอมฟอร์ตโซน ของตัวเอง และมักจะตัดสินใจเลือกทำอะไรที่อยู่ในขอบเขตนั้น ๆ แต่หากวันใดที่พวกเขาสามารถเริ่มต้นเปิดใจ มองสังคมและคนรอบข้างให้กว้างขึ้นกว่าคอมฟอร์ตโซนของตนแล้ว ก็อาจมองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน รวมถึงมองเห็นปัญหารอบ ๆ ที่มีอยู่ได้ ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะกิจการเพื่อสังคมจำเป็นต้องเริ่มจากการเปิดใจมองเห็นปัญหาก่อน เมื่อสามารถมองเห็นปัญหาได้ ก็จะสามารถคิดหาหนทางในการช่วยเหลือได้ ซึ่งแม้จะเป็นเพียงแค่ไอเดียตั้งต้น ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม และสำหรับผู้ที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมอยู่แล้ว ก็สามารถใช้อาวุธแห่งการเปิดใจได้เช่นกัน โดยการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น โดยเฉพาะความเห็นในแง่มุมที่แตกต่างแล้วลองดูว่าจะสามารถนำมาต่อยอดกิจการจุดไหนได้อย่างไรบ้าง

อาวุธทางความคิดที่สองคือ การปรับ – ปรับตัว หลังจากที่เปิดใจมองปัญหารอบตัวและรับฟังความเห็นที่แตกต่างได้แล้ว สเต็ปถัดไปคือการปรับตัวหรือปรับธุรกิจให้ทันกับยุคสมัยและความท้าทายใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมควรสร้างความกล้าให้กับจิตใจ กล้าที่จะปรับตัวเองและกิจการไปตามปัจจัยและสังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถอยู่รอดในสนามแข่งขันทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การหมั่นพัฒนาตนและกิจการอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดยั้งนี้ จะส่งเสริมให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน

อาวุธทางความคิดสุดท้ายคือ การเปลี่ยน – เปลี่ยนแปลงสังคม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กิจการเพื่อสังคมสามารถติดอาวุธทางความคิดในการเปิดและปรับได้ จะช่วยหล่อหลอมให้กิจการนั้นพร้อมที่จะเดินหน้าติดอาวุธสำคัญ คือ การสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเชิงบวกทางสังคมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนั่นถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของการทำกิจการเพื่อสังคม

หนึ่งในผู้ที่ได้ใช้อาวุธทางความคิด เปิด-ปรับ-เปลี่ยน คือ คุณปิง ศรวุฒิ ปิงคลาศัย ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม “Hand Up Volunteer Network” ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายอาสาสมัครจากภาคธุรกิจ ที่มีทักษะทางวิชาชีพ (Skill-Based Volunteer) มาช่วยเหลือองค์กรภาคสังคม กล่าวว่า “ผมเชื่อในเรื่องความแตกต่าง หรือ Diversity มาก ๆ และชอบทำงานกับคนที่แม้จะมีพื้นฐานทางชีวิตที่แตกต่าง แต่มีความสนใจที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคมคล้าย ๆ กัน ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่มาจากภาคธุรกิจที่แตกต่าง ทุก ๆ ครั้งจะทำให้ผมได้มุมมองและโซลูชันใหม่ ๆ ให้สังคม ในช่วงเริ่มต้น ผมใช้การเปิดใจ โดยการตระเวนหาไอเดียและโมเดลการทำธุรกิจอาสาสมัครจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกแล้วนำมาใช้กับกิจการ แต่พอดำเนินธุรกิจมาได้ระยะหนึ่งก็เริ่มได้บทเรียนว่า ตัวอย่างที่ดีจากต่างประเทศ อาจใช้ไม่ได้ดีเสมอไปในบริบทธุรกิจไทย จึงปรับโมเดลธุรกิจในหลาย ๆ จุดเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมไทย” จนถึงตอนนี้ นับเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ Hand Up Volunteer Network ยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความแข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับเครือข่ายอาสาสมัครภาคธุรกิจที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม

นอกเหนือจากการติดอาวุธทางความคิด 3 อย่างแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมต้องให้ความสำคัญก็คือการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนรู้นี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ ซึ่งหนึ่งในช่องทางการเรียนรู้ของกิจการเพื่อสังคมก็คือ SE School (https://se.school/) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์แห่งแรกในประเทศไทยสำหรับผู้ที่มีใจรักที่จะเป็นผู้ประกอบการไปพร้อมกับสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคม บนแพลตฟอร์มดังกล่าวผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาบทเรียนจากกิจการเพื่อสังคมต่าง ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสริมแรงให้อาวุธทางความคิดอย่าง เปิด-ปรับ-เปลี่ยน เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ SE School ยังเป็นคลังความรู้สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปที่สนใจในกิจการเพื่อสังคม ในการนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และก้าวผ่านความท้าทายสู่ความสำเร็จ โดยพวกเขาสามารถเข้ามารับความรู้จากแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ได้อย่างง่ายดาย ทุกที่ ทุกเวลา ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

เมื่อผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมติดอาวุธทางความคิดที่ครบมือ รวมถึงได้เพิ่มพูนความรู้ทางด้านกิจการเพื่อสังคมจากแพลตฟอร์มการเรียนรู้อย่างครบถ้วนแล้ว สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้พวกเขาสามารถยืนหยัดในโลกแห่งกิจการเพื่อสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมรับมือกับความท้าทายด้านต่างๆ เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมได้สำเร็จ และร่วมเป็นพลังสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสของกิจการเพื่อสังคมที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

ใครที่สนใจอยากรู้จักกิจการเพื่อสังคมให้มากขึ้น หรือสนับสนุนสินค้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม สามารถมาร่วมกิจกรรมดี ๆ ได้ในงาน Banpu Champions for Change Impact Day ในวันอาทิตย์ที่ 25 – จันทร์ที่ 26  พฤศจิกายน 2561 ณ โซน Eden ชั้น1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Banpu Champions for Change


Similar Posts