เบาหวาน เสี่ยงสูงหัวใจขาดเลือดอัมพฤกษ์ อัมพาต


โรคหัวใจที่เกิดจากเบาหวานหรือที่เรียกว่า Diabetic heart disease หมายถึงโรคหัวใจที่เกิดกับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไปจะพบว่า “ผู้ที่เป็นเบาหวานจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจสูงกว่า” เกิดโรคหัวใจอายุน้อยกว่า เป็นโรคหัวใจรุนแรงกว่าผู้ที่เป็นเบาหวานมักจะมีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดแข็ง และตีบ เมื่อหลอดเลือดตีบจนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ ก็จะเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ล่าสุด medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยถึง สมาพันธ์เบาหวานโลก (IDF) กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก

โดยมีประเด็นในการรณรงค์สำหรับปีนี้คือ “เบาหวานกับครอบครัว” ( The Family and Diabetes ) เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยและผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถดูแลตนเองได้ โดยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน

ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถผลิตหรือสร้างฮอร์โมนอินซูลินเพียงพอ หรือเกิดภาวะต้านอินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้รับจากอาหารมาเป็นพลังงานได้
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงค่าปกติ คือ ประมาณ 80-130 มก./ดล.

นอกจากนี้ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และปฏิบัติตนตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ด้าน แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ระบุว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานในระยะเวลานานๆ มักมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าปกติเนื่องจากโรคเบาหวานจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมีการตีบหรืออุดตัน ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายเรื้อรัง และตาบอด

ดังนั้นหากมีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ตามัว มือเท้าชา บวม ปัสสาวะออกน้อยให้รีบมาพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคหัวใจ นอกจากนี้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ไขมันสูง สูบบุหรี่ ควรตรวจเช็คโรคเบาหวานเช่นกันเนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมกันที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานควรดูแลตนเองดังนี้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม
หลีกเลี่ยงของหวาน ชา กาแฟ น้ำอัดลม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ระวังไม่ให้เกิดภาวะติดเชื้อรับประทานยาหรือฉีดยาตามคำแนะนำของแพทย์ และหมั่นตรวจสุขภาพในเรื่องของ ตา ไต หัวใจ เท้า และสมองอย่างสม่ำเสมอ

Cr. Med Agency


Similar Posts