เด็กดื้อ พฤติกรรมก้าวร้าว เราจะจัดการอย่างไงดี 5 แนวทางดีๆสำหรับคุณพ่อคุณแม่


ใครๆ ก็คงอยากได้ลูกที่ว่าง่าย น่ารัก น่าเอ็นดู กันทุกคน แต่เหตุไฉนลูกของเราจึงไม่ได้ดั่งใจ ไม่ดื้อก็ซน ไม่ซนก็ก้าวร้าว อ่อนอกอ่อนใจไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เราคงหลีกเลี่ยงความเป็นจริงไม่ได้ว่า พ่อแม่นั่นแหละเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อการปรับพฤติกรรมของลูก “เมื่อใดที่คุณเปลี่ยน ลูกจะเปลี่ยนตาม”… และก่อนจะเปลี่ยน คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องรู้ถึงสาเหตุและวิธีปราบเด็กดื้อ เด็กซน เด็กก้าวร้าวให้ได้เสียก่อนค่ะ

1.ใส่ใจและเพิ่มปริมาณการชื่นชมพฤติกรรมที่ดี ลดการตำหนิติเตียน เด็กมีจุดอ่อนอยู่ 2 เรื่อง คือ ต้องการคนชม และต้องการคนสนใจ ถ้าเราสนใจและชมเขาในสิ่งดีที่เขาทำบ่อยๆ ให้มากเท่าที่ทำได้ ทุกครั้งที่ชมจะเป็นเครื่องยืนยันว่า หนูทำถูกต้องแล้ว ทำต่อไปนะแม้แต่เด็กที่ดื้อ ซน ก้าวร้าว พฤติกรรมก็จะดีขึ้นๆ จนกลายเป็นเด็กน่ารักในที่สุด

 2.ใช้ท่าทีที่สงบสยบความดึงดัน ให้พ่อแม่เป็นคนยืนยันในสิ่งที่ต้องการ เด็กดื้อ คือ เด็กที่ยืนยันในสิ่งที่เขาต้องการ แล้วได้ตามต้องการ เด็กซน คือ เด็กที่ยืนยันว่าการเล่นสนุกนั้นทำได้เสมอในทุกที่  เด็กก้าวร้าว คือเด็กที่ยืนยันว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงนั้นได้ผลเสมอ เราปล่อยให้ลูกก้าวร้าวทำร้ายคนอื่นเท่ากับว่าเราทำให้ลูกเรียนรู้ว่า เขาจะทำร้ายใครก็ได้ที่ทำให้เขาไม่พอใจ วิธีปราบลูกนั้น ไม้เด็ด คือ ยืนยันอย่างสงบว่าอย่างไรเสียลูกจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ยิ่งเราควบคุมความโกรธได้เท่าไหร่ เรายิ่งควบคุมสถานการณ์ได้ดีเท่านั้น

สิ่งสำคัญ คือ ความคิด คำพูด และการกระทำของคุณพ่อคุณแม่นั้นต้องตรงกัน ต้องทำให้ลูกยุติการกระทำที่ไม่ถูกต้องให้ได้ เช่น เมื่อลูกโมโหไม่ได้ดั่งใจแล้วตีแม่  ความคิด: ลูกตีแม่อย่างนี้ไม่ถูกต้อง จะให้ลูกทำอย่างนี้ไม่ได้  ควบคุมอารมณ์ให้ได้  จ้องหน้าลูกแล้วพูดอย่างชัดเจนหนักแน่น  คำพูด: “หยุดนะ  ลูกตีแม่ไม่ได้”  การกระทำ : จับมือลูกให้หยุดการตีให้ได้  ทำซ้ำเดิมจนกว่าลูกจะหยุดตี เมื่อลูกหยุด ต้องชื่นชม

3. ลูกเป็นคู่กรณีกับคนไหนคนนั้น ให้คนนั้นจัดการ เมื่อใครคนใดคนหนึ่งกำลังจัดการกับพฤติกรรมไม่น่ารักของลูก อีกคนต้องให้ความร่วมมือด้วยการไม่เข้าไปก้าวก่าย ควรดูอยู่เฉยๆไม่แสดงท่าทีเข้าข้างฝ่ายใด เมื่อเหตุการณ์ยุติลงแล้ว อาจเข้ามาเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ลดความตึงเครียดลงลูกจะรู้สึกผ่อนคลายกับผู้ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

4. เวลาลูกโกรธให้รับฟัง และให้รู้ว่าเรารู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร ขณะลูกอาละวาด ระงับเหตุก่อน อย่าดุไปสอนไป การแสดงออกที่เหมาะสม จะต้องเป็นไปตามกติกา ข้อตกลง อย่างเช่น เมื่อลูกเริ่มมีท่าทีโกรธ พ่อแม่ต้องยอมรับความรู้สึกของลูก เมื่อพ่อแม่รับฟังความรู้สึกของเขาจะผ่อนอารมณ์ของลูกลงได้ ถ้าลูกหาทางออกไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเสนอทางเลือกให้ลูก จะดีกว่าออกคำสั่ง เพราะลูกจะเต็มใจมากกว่าถูกบังคับให้ทำ

5.การคาดเดาสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า ให้วางแผนเตรียมการไว้ และป้องกันปัญหาในระยะแรกก่อนที่จะบานปลาย คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกคาดเดาว่าในสถานการณ์ข้างหน้า จะมีเหตุอะไรบ้างที่อาจทำให้เกิดสิ่งไม่น่าพอใจ แล้วหาทางป้องกันไว้ การแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นนั้น ง่ายกว่าไปแก้ที่ปลายเหตุซึ่งจะทำให้ยุ่งยากว่ามาก เช่น แก้ปัญหาเสียตั้งแต่ลูกเริ่มโกรธจะง่ายกว่าเมื่อลูกอาละวาดไปแล้ว

ปัญหาทุกอย่างของลูกแก้ไขได้เสมอ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ค้นพบและปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู และขอให้ระลึกเสมอว่า ลูกเองก็อยากเป็นเด็กดี คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เขาค้นพบวิธีที่จะเป็นเด็กดีได้ ลูกต้องการเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงและการดีขึ้นเพียงเล็กน้อยของลูกเป็นสัญญาณที่ดีของการเปลี่ยนแปลง ชี้ชวนให้ลูกเห็นว่าลูกดีขึ้นตรงไหน หมั่นชื่นชมและให้กำลังใจลูก ไม่นานเขาก็จะเป็นเด็กดีให้คุณพ่อคุณแม่ชื่นใจ

Cr.คำแนะนำที่มา: เว็บไซต์มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว โดย ธิดา พิทักษ์สินสุข “ครูหวาน” จาก www.thaihealth.or.th

 


Similar Posts