สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย – กว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อใหม่เป็นเด็กวัยรุ่น


นพ.วินัย รัตนสุวรรณ สาขาวิชาโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มีอายุโดยเฉลี่ยน้อยลง โดยส่วนมากพบในกลุ่มคนที่อยู่ในวัยเรียนและวัยทำงานต้น ๆซึ่งหลายคนในกลุ่มเหล่านี้ยังไม่เคยตรวจหาว่ามีการติดเชื้อและไม่ทราบว่าตนเองได้รับเชื้อแล้ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วินัย รัตนสุวรรณ สาขาวิชาโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีที่พบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่น คือ การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ซึ่งเด็กวัยรุ่นที่ติดเชื้อส่วนมากมีความรู้เรื่องนี้อยู่แล้วว่า การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการได้รับเชื้อเอชไอวี แต่หลายคนก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่บนความประมาทและได้รับเชื้อมา ผู้ปกครอง หรือญาติผู้ใหญ่ที่มีลูกหลานที่อยู่ในวัยเสี่ยงต้องคอยย้ำเตือนให้พวกเขาป้องกันและตระหนักถึงเรื่องนี้      ”สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยแม้จะไม่เลวร้ายหากเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เพราะมีผู้ได้รับเชื้อรายใหม่ทุกปี เฉลี่ยปีละประมาณ 5,000-6,000 คนต่อปี (หรือเฉลี่ยคือวันละ 17 คน) เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ผู้ป่วยจะต้องกินยาตลอดชีวิต หากหยุดกินเชื้อไวรัสก็จะกลับมาแบ่งตัวและแพร่เชื้อสู้ผู้อื่นได้”

ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “วิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือ การใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ มีการแนะนำให้ใช้ยาต้านเอชไอวีสำหรับป้องกันการติดเชื้อหากมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง ประกอบด้วย ยา 2 ประเภท คือ PrEP (pre-exposure prophylaxis) และ PEP (post-exposure prophylaxis)”

บทความโดย Luxury Society Asia

PrEP คือการใช้ยาต้านเอชไอวีสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีแต่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ เช่น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ชายหรือหญิงที่ทำงานบริการทางเพศ การไม่ใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจำ มีคู่นอนที่เชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะที่ยังไม่ได้รับการรักษา เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และใช้ยาเสพติดชนิดฉีดและใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ที่จะใช้ยาป้องกันแบบ PrEP นี้จะต้องกินยาทุกวัน มาพบแพทย์และเจาะเลือดตามนัด รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

PEP คือการใช้ยาต้านเอชไอวีสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีที่สงสัยว่าตนอาจได้รับเชื้อเอชไอวี หรือมีภาวะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับคนแปลกหน้า เกิดอุบัติเหตุจากอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางรั่ว หรือถุงยางหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ โดนเข็มตำ โดนมีดบาดและสัมผัสเลือดจากของบุคคลอื่นที่ไม่ทราบผลเลือด ปรึกษาเรื่องการใช้ยาป้องกันชนิด PEP นี้กับแพทย์โดยทันที

ผศ. นพ.วินัย ยังกล่าวว่า ทั้งนี้ ผู้ที่กินยาป้องกันจะต้องตระหนักว่ายาสามารถป้องกันได้แค่การติดเชื้อเอชไอวี แต่ไม่สามารถป้องกันการความเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม หรือการตั้งครรภ์ เป็นต้น ปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการรักษาและยาต้านเอชไอวีทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารมีชีวิตอยู่ได้นานยิ่งขึ้น และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องกินอย่าให้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอไปตลอด

อ้างอิง: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 

ศ. พญ. ศศิโสภิณ กล่าวเสริมว่า “การติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคที่ใช้เวลาในการดำเนินโรคยาว ผู้ที่ติดเชื้อระยะแรกจะไม่มีอาการ จึงทำให้หลายคนไม่รู้ว่าตนได้รับเชื้อและสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ ซึ่งวิธีเดียวที่สามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้คือ การตรวจเลือดเท่านั้น โดยจะตรวจได้หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยง 2 สัปดาห์ขึ้นไปจากการตรวจเลือดวิธีทั่วไป หากสงสัยว่าตนอาจได้รับเชื้อควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที ปัจจุบันสามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลต่าง ๆ สำหรับบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ก็สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองรับรอง หรือสามารถโทรปรึกษาสายด่วนที่หมายเลข 1663”

บทความโดย Luxury Society Asia


Similar Posts