|

ทางเดินหายใจอักเสบในเด็กอันตรายจากโรคติดเชื้อเฉียบพลัน


วิธีการสังเกตุอาการเบื้องต้น สาเหตุ วิธีป้องกันดูแลและรักษา 

โรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก สาเหตุเกิดจากเด็กได้รับเชื้อโรคผ่านทางการหายใจ ผ่านไปตามอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ของระบบหายใจ ตั้งแต่จมูก หลอดลม ลงไปที่ปอดตามลำดับ

โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจในเด็ก (Acute Respiratory Infections in Children : ARIC) มักพบในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี กว่า 70% ของการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กมาจากการติดเชื้อไวรัส  โรคหลัก ๆ ที่ต้องระวัง ได้แก่ ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ หวัดเรื้อรัง คอหรือทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวมหรือปอดอักเสบ หอบหืด

บทความโดย Luxury Society Asia

ไข้หวัด

อาการมักเริ่มด้วยการมีน้ำมูกใส ไอ จาม คัดจมูก หายใจเสียงครืดคราด ไข้ไม่สูง (ตัวรุม ๆ) หายไอมาก ก็อาจกินนมน้อยลง เบื้องต้นหากผู้ปกครองดูแลอย่างถูกวิธี อาการก็จะหายดีเป็นปกติ (2 – 5 วัน) เพราะร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไปเองตามธรรมชาติ

ไซนัสอักเสบ

เป็นโรคแทรกซ้อนของโรคหวัด โอกาสที่เกิดมีน้อย ตามปกติเด็กที่เป็นหวัดควรจะหายภายใน 1 สัปดาห์ ถ้ามีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกเป็นเวลานาน ควรพาไปพบแพทย์เพราะอาการภายนอกใกล้เคียงโรคภูมิแพ้ หวัดเรื้อรัง ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคภูมิแพ้ เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแปลกปลอมไวเกินทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจตั้งแต่จมูกไปถึงหลอดลมเกิดอาการอักเสบ มีน้ำมูกไหลเรื้อรัง บางครั้งมีอาการหอบคล้ายหืดเพราะหลอดลมตีบ ออกซิเจนเข้าไปไม่พอ เด็กมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ เกิดการติดเชื้อและกลายเป็นโรคอื่น ๆ

คอหรือทอนซิลอักเสบ

ในเด็กเล็กไม่สามารถบอกได้ว่าเจ็บคอ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ดูจากอาการมีไข้ ทานอาหารน้อยลงหรือไม่ทานอาหาร ไม่ยอมกลืนน้ำลายจนน้ำลายไหลย้อย ร้องเสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม ต่อมน้ำเหลืองโตจนคล้ำหรือมองเห็นได้บริเวณลำคอหรือใต้คาง มีอาการไข้และการเจ็บคอ

บทความโดย Luxury Society Asia

หลอดลมอักเสบ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาการที่พบคือ มีไข้ ไอมาก อาจจะไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะ หายใจเร็ว อาจมีอาการหอบเหนื่อย หรือหายใจเสียงดังครืดคราดเนื่องจากมีเสมหะมากและเหนียว บางครั้งจำเป็นต้องให้ยาเพื่อลดอาการไอ เช่น ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ และให้ดื่มน้ำมากขึ้น ควรลดการดื่มน้ำเย็นเนื่องจากกระตุ้นอาการไอ

ปอดบวมหรือปอดอักเสบ

เริ่มด้วยอาการไข้หวัดระยะสั้น ๆ และมีไข้สูงทันที อาการไข้เกิดก่อนหรือเกิดพร้อมกับการมีปอมบวมก็ได้ ไอมาก ไอแห้ง ๆ หรือไอแบบมีเสมหะ หายใจเร็ว บางรายมีอาการหอบเหนื่อยหรือหายใจลำบาก เวลาหายใจจะเห็นปีกจมูกบาน บางรายได้ยินเสียงหายใจครืดคราดเนื่องจากมีเสมหะมากและเหนียว กรณีติดเชื้อรุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิต หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

หอบหืด

เกิดจากมีอาการเกร็งและหดตัวของกล้ามเนื้อหลอดลม ในวันแรก ๆ ที่ไม่สบาย เด็กจะไอรุนแรงและหายใจเร็ว เกิดจากหลอดลมอุดกั้นหรืออุดตัน (หายใจเข้าได้ แต่หายใจออกไม่ค่อยสะดวก) ควรพาไปพบแพทย์ โรคนี้สามารถส่งผ่านทางพันธุกรรมได้เช่นเดียวกับโรคภูมิแพ้ทั่วไป แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้เองภายหลังหากได้รับสารกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น ควัน หรือก๊าซที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง

บทความโดย Luxury Society Asia

การป้องกัน

1. นำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข

2. เด็กอ่อนควรเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และควรเพิ่มความต้านทานโรคด้วยการให้เด็กรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอ

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค เด็กเล็กไม่ควรใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากมีผู้ป่วยไอ จาม ควรใช้กระดาษหรือผ้าปิดปาก ปิดจมูก และใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดเด็ก

4. หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เด็กเล็กเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น ไม่นำเด็กเล็กไปในสถานที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ควันไฟ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ อากาศหนาวเย็น

5. ฝึกให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้มือขยี้ตา แคะจมูก

6. ดูแลความสะอาดของบ้านเรือน ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

7. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรเลี้ยงเองที่บ้าน ไม่ควรส่งไปเลี้ยงตามสถานเลี้ยงเด็ก

8. หากเด็กไอและหายใจลำบาก หอบ หายใจเร็ว แรง จนชายโครงบุ๋ม หายใจมีเสียงดัง ต้องรีบพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที

เครดิตที่มา www.thaihealth.or.th 

บทความโดย Luxury Society Asia


Similar Posts